‘บัตรทอง’ ต้องรู้! เจาะรายละเอียดประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย
เข้าใจ "บัตรทอง" ประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย พร้อมบอกรายละเอียดสิทธิที่ได้รับ และการสมัครเพื่อรับสิทธิ
จากประเด็นที่ สปสช.เพิกถอนสัญญาคลินิกและโรงพยาบาล 64 แห่ง เนื่องจากมีเหตุเรื่องของการทุจริตเงินบัตรทองและนำมาสู่การยกเลิกเพิกถอน จนทำให้ประชาชนที่มีสิทธิ “บัตรทอง” กว่า 800,000 ราย ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ สร้างความเดือดร้อนและปั่นป่วนอย่างมาก ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกมาชี้แจง และเร่งหาหน่วยบริการแห่งใหม่เข้ามารองรับ
แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วหลักประกันสุขภาพภาครัฐของคนไทย ไม่ได้มีแค่ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง" ยังมีอีก 4 ประเภท ได้แก่
1.สิทธิประกันสังคม
2.สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
3.สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น และ
4.สิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ
- ที่มา “บัตรทอง” โครงการที่ยาวนานเกือบ 20 ปี
โดยครั้งนี้จะเจาะลึกไปที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ที่หลายคนจำภาพว่าเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยม เกิดขึ้นราวปี 2544 ยุครัฐบาล ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเกือบ 20 ปีก่อน
แต่ความจริงแล้วหลักแนวคิดนี้เกิดขึ้นมาก่อนจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก ที่เล็งเห็นความทุกข์ยากของประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะคนจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงพยายามผลักดันจนเกิด ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับแรกที่ถูกร่างโดยภาคประชาชน
หลังจากนั้นปี 2544 พรรคไทยรักไทย นำโดยทักษิณ ชินวัตร นำแนวคิดมาใช้ในการหาเสียง โดยออกเป็นโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ที่หลายคนคุ้นหูเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมีสร้างจุดเปลี่ยนดึงดูดคะแนนเสียงได้อย่างมาก เริ่มแรกโครงการนี้ถูกนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา นครสวรรค์ ปทุมธานี สมุทรสาคร ยโสธร และยะลา ต่อมาขยายจังหวัดเพิ่มขึ้นจนครอบคลุมทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันมีการตั้งให้สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นผู้ถืองบประมาณ จัดซื้อบริการรักษาพยาบาล ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการรักษาพยาบาล และในปี 2545 รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งโครงการนี้ก็ถูกใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีปรับเปลี่ยนจากจ่าย 30 บาท มาเป็นบัตรรักษาฟรี ไม่ต้องจ่าย 30 บาทแล้ว และให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ส่อง "งบบัตรทอง" ปี 63 กับประเด็นคัดค้านตัดงบ
โดยปี 2563 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 190,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.97% แบ่งเป็น 8 รายการหลักๆ ได้แก่
1.บริการเหมาะจ่ายรายหัวดูแลประชาชน 48.26 ล้านคน จำนวนเงิน 173,750.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.39%
2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการควบคุมป้องกันการติดเชื้อ 3,596.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1%
3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,405.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6%
4.บริการป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 1,037.57 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 8.6%
5.บริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนใต้ 1,490.29 ล้านบาท
6.บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง 1,025.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9%
7.บริการเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 268.64 ล้านบาท
8.งบชดเชยวัคซีนป้องกันหัด คางทูมและหัดเยอรมัน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดในภาคใต้ปี 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท
โดยหากลงลึกในรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ปี 2563 พบว่ารายจ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600 บาทต่อประชากร
แต่ขณะเดียวกันนั้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2563 นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติราว 2,400 ล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉินแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.....
จีงมีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาคัดค้านการตัดงบบัตรทองและงบสาธารณสุข และยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่กระทบต่อการบริการอย่างแน่นอน
- ถือ “บัตรทอง” ได้สิทธิอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่ถือบัตรทอง จะได้รับสิทธิในค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ได้แก่
1.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2.การตรวจ การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง โรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เอกส์ วัณโรค
3.การคลอดบุตร ใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
4.บริการทันตกรรม เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักาาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก
5.ค่ายาและเวชภัณฑ์
6.ค่าอาหารและค่าคลอดสามัญ
7.การจัดส่งต่อ
8.บริการแพทย์แผนไทย
9.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด
แม้ในปี 2563 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์เข้ามาอีก เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาออกทรีโอไทด์ แอซีแอต ในบัญชียา จ (2) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกหรือฉายแสง, ขยายระบบดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง, จัดระบบการรักษาโรคหายาก, การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อก่อนมีการสัมผัสเชื้อ หรือยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis) ฯลฯ
โดยผู้ที่ใช้สิทธิต้องจ่ายค่าบริการครั้งละ 30 บาท ให้กับโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องเป็นระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป หรือสถานพยาบาลที่มี 10 เตียงขึ้นไป
แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นบางประการที่ไม่ได้ครอบคลุม เช่น 1.ภาวะการมีบุตรยากหรือการผสมเทียม 2.การศัลยกรรมความงามที่ไม่มีการบ่งชี้จากแพทย์ การแปลงเพศ 3.การดำเนินการใดๆ ทางการแพทย์โดยปราจากการบ่งชี้ทางการแพทย์ 4.การดำเนินการรักษาด้วยวิธีการหรือขั้นตอนที่ยังเป้นการทดลองอยู่ 5.อาการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลจากอุบัติเหตุทางยานพาหนะ แต่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาายที่บริษัทหรือกองทุนเป็นผู้จ่าย
6.การรักษาหรือขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ติดสารเสพติด ยกเว้นกรณีเฉพาะที่ประกาศจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น 7.ผู้ปวยในที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 180 วันด้วยโรคเดียวกัน ยกเว้นภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องหรือมีข้อบ่งชี้ทางการเแพทย์ 8.การปลูกถ่ายอวัยวะขึ้นอยู่กับการประกาศจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาาติ เช่น การปลูกถ่ายตับกับเด็กไม่เกิน 18 ปี หรือการปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาโรค ไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย
- อยากได้รับสิทธิ ต้องทำอย่างไร? ไปที่ไหน?
สิทธิ “บัตรทอง” นับเป็นสิทธิที่ประชาชนคนไทยได้รับ โดยต้องไม่ได้เป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ รวมถึงไม่ได้อยู่ในกองทุนประกันสังคม อีกทั้งเด็กที่พ่อแม่ซื้อประกันสุขภาพไว้ให้ หรือลูกของข้าราชการที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ก็จะไม่ได้รับสิทธินี้ เนื่องจากสามารถใช้สิทธิข้าราชการของพ่อแม่ได้ แต่หากเป็นลูกคนที่ 4 ที่พ่อแม่เป็นราชการ ถึงจะได้รับสิทธิบัตรทองนี้ นอกจากนี้ข้าราชการที่เกษียณก่อนกำหนดและไม่รับบำเน็จบำนาญก็เข้าเกณฑ์ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้ที่มีเกณฑ์เข้าข่าย ต้องเตรียมเอกสารหลักๆ 2 อย่าง คือ บัตรประจำตัวประชาชน ถ้าเป็นเด็กอายุตำ่กว่า 7 ปี ให้ใช้ใบสูติบัตรแทน และสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ถ้าที่อยู่ไม่ตรงกับในบัตรประชาชน ต้องเตรียมสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่ไปอาศัยอยู่ด้วย พร้อมหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่แสดงว่าอยู่ในพื้นที่นั้นจริง เช่น สัญญาเช่าที่พัก
ส่วนสถานที่การทำบัตรทอง แยกเป็น 2 ส่วนคือ ในกรุงเทพฯ สามารถไปได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 19 แห่ง ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัด สามารถทำบัตรทองได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสอบถามสายด่วน 1330 และเมื่อต้องใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิเพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนเพียงใบเดียวเท่านั้น
ที่มา : hfocus, hfocus(2), krisdika, mgronline, petcharavejhospital, gcc,