“ซีพีเอฟ”รุกธุรกิจสีเขียว เพิ่มสัดส่วนรายได้แตะ 30%
ซีพีเอฟ คาด ตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียวมีแนวโน้มขยายตัวสูง เน้นลดใช้พลังงานและทรัพยากร พัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ตั้งเป้าเพิ่มรายได้สีเขียว (Green Revenue) เป็น 30% ในปี 2563
นายเรวัต หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว หรือ ผลิตภัณฑ์ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน จะเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุการเพิ่มสัดส่วนรายได้สีเขียวเป็น 30% ของรายได้รวมซีพีเอฟในปีนี้ แสดงให้เห็นว่ารายได้ของซีพีเอฟมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียวของบริษัทฯ เป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และฉลากวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ตามาตรฐาน ISO 14046 จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยซีพีเอฟมีสินค้าที่ได้รับการรับรองทั้ง 3 ประเภท จำนวน 770 รายการ
สำหรับปี 2563 อบก.ได้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารไก่เนื้อของ ซีพีเอฟ 6 รายการ ได้รับฉลากลดโลกร้อน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 77,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2562 หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1.28 ล้านต้น ซึ่งอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ นอกจากจะให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของสัตว์แล้ว ยังคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน รวมถึงผลิตภัณฑ์ซอสพริกและซอสมะเขือเทศ 8 รายการ ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์
นอกจากนี้ อบก.ได้มอบประกาศนียบัตรคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรให้ซีพีเอฟ ซึ่งซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้มีการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรทั้งการผลิตและการบริการขององค์กร
ตลอดจนกิจกรรมลดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เช่น คาร์บอนนิวทรัลส่วนบุคคล (Carbon Neutral Man) บุคลากรของซีพีเอฟและเครือเจริญโภคภัณฑ์ 36 คน การชดเชยคาร์บอนในงาน Carbon Neutral Event คือ “CPF Run for Charity at Fort Adisorn 2020” การชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคลไป 108 ton Co2 eq. ในปี 2563
รวมทั้งมีหน่วยงานที่ผ่านการรับรองในโครงการ Low Emission Support Scheme (LESS) ทั้งหมด 60 หน่วยงาน โดยมีการปลูกต้นไม้รวม 16,910 ต้น กักเก็บคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้ 6,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เทียบเท่า ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนสู่การเป็น “องค์กรคาร์บอนต่ำ”
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า นอกจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ซีพีเอฟยังคงเดินหน้านโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เช่น จากการใช้พลังงานหมุนเวียน การลดการสูญเสียอาหารและขยะ อาหาร การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิต ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งสนับสนุนการนำทรัพยากรทุกส่วนไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยไม่เหลือทิ้ง
ทั้งนี้ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 แล้ว 15% เทียบกับปีฐานปี 2558 ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้เดิมในปี 2563 และเดินหน้าสู่เป้าหมาย 25% ในปี 2568
ซีพีเอฟ ยังคงดำเนินธุรกิจตามทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ปี 2573 สู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน คือ การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ และการมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral
“การจัดกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเป็นการการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความรับผิดชอบในการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวุฒิชัย กล่าว