ถ้วนหน้า! หุ้น 'แบงก์ยักษ์โลก' ดิ่งหนัก เซ่นเอี่ยว 'ธุรกรรมต้องสงสัย'
ราคาหุ้นของธนาคารยักษ์ใหญ่ นำโดย “ดอยซ์แบงก์” “เจพี มอร์แกน” “โกลด์แมนแซคส์” “เอชเอสบีซี” และ “สแตนชาร์ด” ร่วงกันถ้วนหน้าวันนี้ (21 ก.ย.) หลังมีรายงานเปิดโปงแบงก์หลายรายทั่วโลก รวมถึง 4 แบงก์ในไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย
เว็บไซต์ของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่เอกสารของเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐ (FinCen) ที่หลุดออกไปถึงสื่อของสหรัฐและถูกแชร์เป็นวงกว้าง ระบุว่า ธนาคารหลายแห่งทั่วโลกรวมถึง เอชเอสบีซี, เจพีมอร์แกน เชส, ดอยซ์แบงก์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สแตนชาร์ด) และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัยหลายครั้ง
เอกสารของ FinCen เผยว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี แม้จะมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแหล่งที่มีของเงินดังกล่าวก็ตาม โดยการโอนเงินต้องสงสัยมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2542-2560 ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย
หุ้นดอยซ์แบงก์ของเยอรมนีซึ่งจดทะเบียนในตลาดยุโรปร่วงหนัก 8.15% ในการซื้อขายหลังเที่ยงของวันจันทร์ ขณะที่หุ้นเจพี มอร์แกน ดิ่งเกือบ 5% ในการซื้อขายล่วงหน้าก่อนเปิดตลาดวอลล์สตรีทในนิวยอร์ก ส่วนหุ้นของโกลด์แมน แซคส์, ซิตี้กรุ๊ป และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน ร่วงอย่างน้อย 2.5%
ขณะเดียวกัน หุ้นของธนาคารชื่อดังอย่าง สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ เอชเอสบีซี ซึ่งจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง ปิดร่วง 6.18% และ 5.33% ตามลำดับ โดยหุ้นเอชเอสบีซีปิดที่ 29.30 ดอลลาร์ฮ่องกง แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี
นอกจากธนาคารในต่างประเทศแล้ว เอกสาร FinCen ยังพบว่า ธนาคาร 4 แห่งของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัยด้วย
เว็บไซต์ ICIJ มีการยกตัวอย่างธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย 92 รายการผ่าน 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทย ประกอบด้วยธนาคารเอกชน 3 แห่ง และธนาคารรัฐ 1 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 41,308,752 ดอลลาร์ โดยเป็นการรับเงิน 9,558,752 ดอลลาร์ และการส่งเงิน 31,750,000 ดอลลาร์
รายงานดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีกลุ่มแบงก์ของไทย ปิดร่วง 1.07% มาอยู่ที่ 256.38 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3,559.81 ล้านบาทในวันนี้