หุ้น’น้ำมัน’ผวาล็อกดาวน์รอบ 2 กดดันราคาฟื้นยาก- กระทบลงทุน

หุ้น’น้ำมัน’ผวาล็อกดาวน์รอบ 2  กดดันราคาฟื้นยาก- กระทบลงทุน

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ ยิ่งในยุโรป และ เอเชียมีข่าวลบอีกครั้งหลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจนทำให้มีหลายประเทศต้องประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่าง และล็อกดาวน์บางส่วนของประเทศ 

 

            ข่าวลบดังกล่าวกลายเป็นภาพย้อนที่ทำให้หลายธุรกิจหวาดกลัวว่าจะยืดเยื้อ ยาวนาน มีผลต่อธุรกิจอีกนานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้   ซึ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการขนส่งมวลชน  ย่อมได้รับผลกระทบในอันดับแรกๆ  และยังขยายวงไปยังกลุ่มสินค้าคอมมูนิตี้ อย่างน้ำมัน  ที่เริ่มมีความวิตกว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะลดลงฉับพลันเหมือนต้นปีที่ผ่านมา

            จากแต่ละภูมิภาคเริ่มมีการประกาศมาตรการป้องกันการติดเชื้อระรอกใหม่ออกมาแล้ว มีอิสราเอลประกาศแรกของโลกที่ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 2  ขณะที่โซนยุโรป มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในหลายประเทศของยุโรป ตั้งแต่เดนมาร์กไป จนถึงกรีซ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอังกฤษ ประเทศล่าสุด อาจประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 2 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในอังกฤษเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 7 วัน

            โซนเอเชีย รัฐบาลฮ่องกงเตรียมขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมออกไปอีก 1 สัปดาห์ หลังยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ทราบแหล่งที่มา หลังที่ผ่านมาฮ่องกงได้อนุญาตให้บาร์ สระว่ายน้ำ และสวนสนุก เปิดบริการอีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลจะจำกัดการรวมตัวในที่สาธารณะไว้ที่ไม่เกิน 4 คน

          ตามมาด้วยรัฐบาลเมียนมาพึ่งประกาศเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเขตเมืองย่างกุ้งทั้งหมด ยกเว้นเมืองโกโกจุ้น หมู่เกาะโกโก  เพื่อยังยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 

         บวกกับข่าว ลิเบียอาจจะส่งออกน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น หลังจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลิเบียประกาศยุติการปิด ล้อมโรงงานน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำมันที่อาจจะล้นในอนาคตได้ ราคาน้ำมันในตลาดโลก 3 แห่งต่างปรับตัวลดลงทันที ตลาดเวสต์เท็กซัส(WTI)อยู่ที่  39.50ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ปรับตัวลดลง 4 %   

            ก่อนหน้าราคาน้ำมันโลกเริ่มเห็นการฟื้นตัวจากช่วงที่ลงไปต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ มี.ค. – พ.ค.  มาจาก2 เหตุการณ์คือการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก และตามมาด้วยสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาราเบียและรัสเชีย

          ราคาน้ำมันในช่วงเดือนมี.ค. สัญญาราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด เบรนท์ ร่วงต่ำลง 11.81 ดอลลาร์ หรือ 26% อยู่ที่ราคา 33.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากก่อนหน้าร่วงลงไปอยู่ที่ 31.02% ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2559

            กระทั่งในเดือน เม.ย. วิกฤติราคาน้ำมันรุนแรงจากการขายของกลุ่มเฮจฟันด์ที่ถือลงทุนในสัญญาน้ำมันเทขายลงทุนออกมาแม้จะเป็นการขายแบบขาดทุนก็ยอม เพราะไม่ต้องการรับมอบน้ำมันจริง  บวกกับคลังน้ำมันทั่วโลกมีปริมาณล้นจนไม่มีที่เก็บ

            ดังนั้นราคาน้ำมันดิบส่งมอบ เดือนพ.ค. ลงมาติดลบเป็นครั้งแรก ซึ่งราคาในตลาดเวสต์เท็กซัสปรับลดลง 11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 21 ปี และราคาในตลาดไนเม็กซ์( NYMEX)  ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุด ราคาน้ำมันลงมาติดลบเป็นครั้งแรกอยู่ที่ -37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

           ตามการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั้งโลกของสำนักงานพลังงานสากลหรือ IEA ลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 562 ลงเป็น -8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค. 2563 ที่ -7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

          เพียงเท่านี้ก็กดดันหุ้นน้ำมันที่ถือว่ามีมาร์เก็ตแคปใหญ่ในตลาดหุ้นไทยลดลง และฉุดดัชนีหุ้นไทยพร้อมแนวโน้มลงตามไปด้วย แม้ว่าไทยยังสามารถรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์มาอย่างยาวนาน แต่ทั่วโลกกลับติดเชื้อรอบใหม่ทำให้การลงทุนในหุ้นน้ำมันในช่วงนี้จึงผันผวนตามไปด้วย