ต.ค.นี้ สปสช.ปรับระบบบัตรทองกทม.อุดรูรั่วทุจริต
การตรวจสอบเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)ปี 2562 ประเภทบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วเสร็จ 3 ล็อต พบ“ทุจริต”และ”เบิกจ่ายผิดปกติ” รวม 188 แห่ง มูลค่าความเสียหาย195ล้านบาท
กระทบผู้อยู่ในสิทธิราว 2 ล้านคน นอกจากการเอาผิดคนโกง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง“อุดรูรั่ว”อย่าให้เกิดซ้ำรอย
เรื่องนี้แดงขึ้น เป็นผลจากระบบการตรวจสอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีการเบิกจ่ายบริการคัดกรองความเสี่ยงโรคเมตาบอลิก ที่จัดอยู่ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ประเภทบริการสร้างเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค ในคลินิกชุมชน 45 แห่งที่ให้บริการสูงสุด เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 62 โดย สปสช.เขต 13 กทม. พบข้อมูลการเบิกจ่ายของคลินิก 18 แห่ง ไม่น่าเชื่อถือ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเป็นการทุจริต มีการแจ้งความร้องทุกข์ เรียกเงินค่าเสียหาย และยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการ กระทบผู้มีสิทธิบัตรทองต้องหาหน่วยบริการสังกัดใหม่ราว 2 แสนคน ซึ่งสปสช.จัดหาให้เรียบร้อยแล้ว
นำเรื่องเสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) และมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง มีนายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในบอร์ดสปสช.เป็นประธาน โดยให้ขยายผลตรวจสอบการเบิกจ่าย “รายการนี้”ในทุกหน่วยบริการของพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ต่อมาคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ รายงานพบหน่วยบริการที่เบิกจ่ายเข้าข่ายทุจริตล็อตที่ 2 อีก 64 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นรพ.เอกชน 6 แห่ง ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ เรียกเงินค่าเสียหาย และยกเลิกสัญญา จึงกระทบผู้มีสิทธิอีก 8 แสนคน กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการดูแล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคที่ต้องอาศัยรพ.ในการดูแล เช่น ผ่าตัด คลอดบุตร ล้างไต ซึ่งมีรพ.ถูกยกเลิกสัญญา 6 แห่ง สปสช.ได้ดำเนินการประสานไปยังผู้ป่วยเพื่อแจ้งสถานพยาบาลที่จะได้รับบริการให้ทราบแล้ว 2.กลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ประสานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครในการดูแลผู้ป่วยในระยะสั้นก่อนแล้ว โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง
และ 3. โรคทั่วๆไป ขณะนี้จะถือว่าเป็นสิทธิว่าง ได้รับวีซ่าพิเศษหากเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการบัตรทองได้ทั้งของรัฐและเอกชนที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยิ่งกว่านั้น มีการเปิดเผยล็อตที่ 3 ตรวจสอบพบการเบิกจ่าย “ผิดปกติ” อีก 106 แห่ง ดำเนินการแจ้งความแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญา หากมีการยกเลิกจะกระทบผู้มีสิทธิอีก 9 แสน-1ล้านคน ซึ่งจะต้องเตรียมการเพื่อหาหน่วยบริการใหม่รองรับ
“จากการตรวจสอบพบรูปแบบการทุจริตที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน เช่น อ้างชื่อคนเพื่อเบิกเงินทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือการสร้างชื่อพนักงานบริษัทขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อมาเบิกจ่ายแต่กลับพบว่ารายชื่อนั้นไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัท เป็นต้น” นายจิรวุสฐ์กล่าว
ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบพบทุจริตและยกเลิกสัญญาเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น อีก 76 จังหวัดไม่ต้องกังวลยังใช้บริการ มีสิทธิบัตรทองของประชาชนอยู่ครบเหมือนเดิมและจะมีการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นตามสิทธิประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะมีการขยายผลตรวจสอบย้อยหลังไป 10 ปีตั้งแต่ปี 2555-2561 ในช่วงที่มีการดำเนินโครงการนี้ด้วย
จากการที่ “กรุงเทพธุรกิจ”ตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ 5 ปีระหว่างพ.ศ.2560-2564 ซึ่งเป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัว ประเภทบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พบว่า แต่ละปีจะได้รับการจัดสรรราว 400-500 บาทต่อผู้มีสิทธิบัตรทอง แต่จะใช้ในการให้บริการประชาชนทุกคน อย่างเช่น ปีงบฯ 2562 สปสช.ได้รับจัดสรร จำนวน 431.43 บาทต่อคน คิดจากผู้มีสิทธิบัตรทองราว 48 ล้านคน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริการให้ประชาชนทุกคนราว 65 ล้านคน จึงเท่ากับ 318.98 บาทต่อคน เป็นต้น งบฯรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท
งบประเภทบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จะแบ่งเป็น 5 หมวดย่อย ได้แก่ 1.ระดับประเทศ เช่น ค่าวัคซีน ค่าบริการให้เด็กที่มีผลการตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน 2. ดำเนินการในชุมชน รูปแบบร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เน้น กลุ่มเด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 3.ตามปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด ซึ่งส่วนที่มีการตรวจสอบพบทุจริตของพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ในหมวดย่อยนี้ จะมีการจัดสรรราว4-5 บาทต่อคนต่อปี 4.สำหรับบริการพื้นฐาน เช่น บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฝากครรภ์ ทันตกรรม และ5.จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ เป็นการบริหารจัดการระดับเขต
สำหรับการป้องกันการทุจริตในแบบ“สวมสิทธิ”ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า เดิมสปสช.มีการจัดสรรงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็น “แบบเหมาจ่าย” คือจ่ายให้หน่วยบริการโดยตรง แต่พบปัญหาประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ จึงปรับเป็นการจ่าย “แบบตามผลงาน” จึงเกิดการมุ่งที่จะเพิ่มจำนวนผลงานให้มากขึ้น และสปสช.ตรวจสอบพบการเบิกจ่ายที่ผิดปกติโดยเฉพาะการอ้างชื่อประชาชนทั้งที่ไม่ได้เข้าบริการจริง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่เป็นปีงบประมาณ 2564 มีการปรับการเบิกจ่ายเป็น “แบบพิสูจน์ตัวตน” ซึ่งสปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารกรุงไทย โดยเปิดส่วนหนึ่งในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตังค์” ให้คนอยู่ในกรุงเทพมหานครลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชน จะทำให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นเพศหญิงหรือชาย และอายุเท่าไหร่ จากนั้นจะมีการแจ้งบุคคลโดยตรงว่ามีสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอะไรบ้างให้ประชาชนเลือกโดยตรง เช่น เพศหญิง อายุ 20-50 ปี มีสิทธิคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแต่เพศชายไม่ได้สิทธิ เป็นต้น
หากเลือกที่จะรับสิทธิบริการใดก็จะได้รับคิวอาร์โค้ด พร้อมแจ้งหน่วยให้บริการที่ใกล้ที่สุด จากนั้นนำคิวอาร์โค้ดนี้ไปยื่นรับบริการได้เลย หน่วยบริการก็จะบันทึกการให้บริการ และข้อมูลนี้ก็จะส่งตรงมาที่สปสช. ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าการลงทะเบียนรับสิทธิบริการและการบันทึกให้บริการตรงกันหรือไม่
“การโกงที่เกิดขึ้น พบเกือบ 100 %ปล่อยไม่ได้”นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานประธานบอร์ดสปสช. กล่าว