'ข้าวไทย' ฝ่ามรสุมส่งออก
การส่งออก "ข้าว" ของไทยหดตัวต่อเนื่องนับจากปี 2562 สู่การผลักดัน "ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567" ตั้งเป้าผู้นำการผลิต ผู้นำส่งออก เร่งพัฒนา 12 พันธุ์ข้าว หวังแข่ง "ข้าวพื้นนุ่ม" เวียดนาม-กัมพูชา
การส่งออกข้าวของไทยหดตัวต่อเนื่องนับจากปี 2562 ที่ส่งออกข้าวได้เพียง 7.58 ล้านตัน เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า รวมถึงการส่งออกข้าวขาวของไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคาที่แข่งขันไม่ได้ เงินบาทแข็งค่า ในขณะที่ตลาดข้าวขาวต้องการข้าวพื้นนุ่มมากขึ้นแต่คู่แข่งทำตลาดได้ดีกว่า ซึ่งทำให้การส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือน แรกของปี 2563 มีมูลค่าเพียง 3.29 ล้านตัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 15.1% และมีมูลค่า 69,469 ล้านบาท ลดลง 32.9%
สถานการณ์การแข่งขันของไทยที่ทำได้ยากขึ้นทำให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2563–2567 เพื่อให้ไทยยังคงเป็นผู้นำในการส่งออกข้าว
ถึงแม้ปี 2563 จะประเมินการส่งออกเพียง 7.60 ล้านตัน แต่ได้มีการประเมินประเทศผู้ผลิตข้าวพบว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งในตลาดข้าวทุกชนิดยกเว้นข้าวเหนียว ในขณะที่อินเดียเป็นคู่แข่งในตลาดข้าวหอมไทย ข้าวพื้นแข็งและข้าวนึ่ง ส่วนข้าวพรีเมียมทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทยมีคู่แข่งทั้งเวียดนาม สหรัฐ กัมพูชา อินเดียและเมียนมา
ส่วนข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดโลกต้องการมากขึ้น แต่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขันน้อยกว่าข้าวประเภทอื่น โดยไทยยังไม่มีมาตรฐานสินค้าข้าวพื้นนุ่มและยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาสายพันธุ์ ในขณะที่เวียดนามมีการพัฒนาหลายสายพันธุ์ เช่น นางฮวา OM5451 รวมถึงกัมพูชาที่เป็นผู้ผลิตข้าวพื้นนุ่มที่สำคัญอีกราย ซึ่งมีจีนเข้าไปพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มหลายสายพันธุ์ในกัมพูชา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับยุทธศาสตร์ข้าวไทยจะแบ่งการพัฒนาการผลิตและการทำตลาดข้าว 7 ชนิด แยกตามความต้องการของตลาด 3 ตลาด คือ
1.ตลาดพรีเมียมและข้าวคุณภาพสูง มีข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย
2.ตลาดทั่วไป มีข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง
3.ตลาดเฉพาะ มีข้าวเหนียว ข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ
- เร่งสร้างตลาดข้าวพื้นนุ่ม
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การผลักดันตามยุทธศาสตร์ข้าวไทยกำหนด 4 แนวทางตามหลักการตลาดนำการผลิต คือ
1.ด้านการตลาดต่างประเทศ จะต้องพัฒนาสินค้าข้าวให้หลากหลายและตรงความต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสร้างทีมนักขายและขยายตลาด และส่งออกข้าวที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ ซึ่งตลาดต้องการข้าวที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่เป็นความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
2.ด้านการตลาดในประเทศ จะต้องรักษาคุณภาพข้าวและสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงการรักษาสมดุลและสร้างเสถียรภาพราคา การพัฒนากลไกการซื้อขายข้าวให้ได้มาตรฐาน และสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศ
3.ด้านการผลิต ส่วนสำคัญที่สุดจะต้องลดต้นทุนการเพาะปลูกให้เหลือเฉลี่ยไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท หรือไม่เกินตันละ 6,000 บาท ภายในปี 2567 รวมทั้งต้องเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ โดยมีเป้าหมายได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะ สั้น เตี้ย ดก ดี แบ่งเป็น ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ อายุสั้นไม่เกิน 100 วัน ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 1 ตัน
รวมทั้งได้พันธุ์ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ อายุสั้นไม่เกิน 100 วัน ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 1.5 ตัน และต้องได้พันธุ์ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 0.8 ตัน และได้พันธุ์ข้าวที่มีโภชนาการสูง 2 พันธุ์ ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 0.8 ตัน
4.ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว จะสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเพื่อสร้างงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง 2. ส่งเสริมการใช้ระบบสารสนเทศตลอดห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว
- ตลาดข้าวขาวแข่งขันรุนแรง
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ข้าวไทยต้องคำนึงถึงการปรับตัวของชาวนาไทย ไปสู่ชาวนาที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ เนื่องจากในปัจจุบันตลาดข้าวโลกโดยเฉพาะข้าวขาว รวมถึงข้าวขาวพื้นนุ่มเป็นตลาดข้าวที่มีการแข่งขันรุนแรงมากในปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกข้าวประเภทนี้จำนวนมาก เช่น เวียดนาม อินเดีย เมียนมาปากีสถาน เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องของต้นทุนในการผลิตข้าวปัจจุบันทุกประเทศที่เป็นผู้ส่งออกข้าวต่างมีต้นทุนการผลิตข้าวที่ต่ำกว่าประเทศไทยโดยเฉลี่ยปัจจุบันไทยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-7,500 บาทต่อตัน ซึ่งต้นทุนระดับนี้ถือว่าสูงมาก ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและชาวนาไม่สามารถจะทำกำไรได้มากเพียงพอที่จะปลูกข้าวอย่างเดียวแล้วอยู่ได้โดยไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐผ่านนโยบายประกันรายได้และช่วยเหลือปัจจัยการผลิต
- แนะทบทวนประกันรายได้
นอกจากนี้ การอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาแบบที่ภาครัฐทำอยู่ไม่ได้ส่งเสริมให้ชาวนาเกิดการปรับตัวไปสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่นที่สร้างรายได้มากกว่าโดยควรลดปริมาณการผลิตข้าวเปลือกลงจากปีละ 28-30 ล้านตันในปัจจุบัน ให้เหลือ 20-24 ล้านตัน ซึ่งพอเพียงสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออกตามดีมานด์ที่แท้จริง รวมถึงการทำไร่นาผสมผสานที่เป็นทางออกที่จะสร้างรายได้ให้กับชาวนาได้มากกว่าการทำนาในลักษณะการปลูกข้าวแบบเป็นพืชเชิงเดี่ยว
“เราไม่สามารถใช้นโยบายแบบตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใช้กับการปลูกข้าวทั่วประเทศได้ผล การอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาด้วยการประกันรายได้ เหมือนกับเราไปแช่แข็งชาวนาไว้ให้ปลูกพืชแบบเดิม ไม่จูงใจให้เขาปรับเปลี่ยนการปลูกแบบไร่นาผสมผสาน ดังนั้นการช่วยเหลือระยะต่อไปต้องมีเงื่อนไขที่จูงใจ และมีนโยบายแบบเฉพาะที่ช่วยเหลือชาวนาแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน มีการใช้กลไกของสินเชื่อเข้ามาช่วยเหลือให้เกิดการปรับเปลี่ยน ยุทธศาสตร์แบบนี้ถึงจะได้ผลอย่างแท้จริงในระยะยาว” นายสมพรกล่าว
- แยกช่วยเหลือชาวนา3กลุ่ม
รวมทั้งยุทธศาสตร์ข้าวไทยต้องมีความหลากหลายในการกำหนดนโยยายให้เอื้อต่อกลุ่มชาวนาที่แตกต่างกัน เช่น อาจจะต้องแบ่งชาวนาเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.ชาวนากลุ่มเปราะบางที่มี 30% กลุ่มนี้ต้องใช้การช่วยเหลือด้านประกันรายได้
2.ชาวนากลุ่มใหญ่ที่ปลูกข้าวแบบดั้งเดิมคือใช้น้ำจากระบบชลประทาน หรือน้ำฝนมีอยู่ 40-50% กลุ่มนี้ต้องใช้นโยบายส่งเสริมการทำไร่นาสวนผสม เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยใช้กลไกสินเชื่อเข้ามาช่วย
3.ชาวนาที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่ 10% กลุ่มนี้รัฐบาลไม่ต้องช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกมากแต่ต้องช่วยเรื่องตลาด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องมาพัฒนาเรื่องตลาดข้าวให้จริงจังหลังจากช่วงหลังผลงานด้านนี้ไม่ชัดเจนนัก
นอกจากนั้นยุทธศาสตร์ข้าวต้องมองให้ครอบคลุมปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบกับข้าวไทยระยะยาว เช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงานในการทำนาจากการที่อายุเฉลี่ยของชาวนามีมากขึ้น การหดตัวของตลาดส่งออกข้าวของไทยที่ลดลงประมาณ 1-2 ล้านตัน ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คุณภาพและการปรับปรุงพันธุ์ข้าวก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงเช่นกัน
- คาดราคาข้าวปลายปีทรงตัว
นายสมพร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวในช่วงปลายปี 2563 ถึงปี 2564 คาดว่าจะมีราคาใกล้เคียงกับปีนี้ที่ราคาข้าวขาวประมาณ 9,000 บาทต่อตัน ซึ่งราคาข้าวที่ยังค่อนข้างสูงไปจนถึงปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเรื่องโลจิสติกและการขนส่งในบางพื้นที่ รวมทั้งข้าวในตลาดใหญ่อย่างอินเดียไม่ได้ส่งออกในช่วงนี้มากนัก
อย่างไรก็ตามราคาคาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดระดับลงมีการคลายล็อกและเปิดประเทศมากขึ้น ราคาข้าวจะต่ำลง อาจจะเหลือตันละ 7,500-8,000 บาทต่อตัน โดยสิ่งที่ต้องระวังคือการระบายสต็อกข้าวของจีนและอินเดียที่มีการเก็บสต็อกข้าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19