'วิษณุ'เผย'นายกฯ'ปรารภเข็นต่อร่าง'แก้รธน.'พรรคร่วม กลับลำไม่ได้
"วิษณุ" เผย "บิ๊กตู่" ปรารภปม "แก้รธน." ก่อนประชุมครม. ยัน เข็นต่อ "ร่างพรรคร่วม" จะกลับลำได้อย่างไร ระบุ ทุกพรรคเห็นด้วย ชี้ ข้อเสนอ "ส.ว." ทำประชามติ ก่อนตั้ง "ส.ส.ร." โยน คุยกันใน "กมธ."
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีวุฒิสมาชิก (ส.ว.) บางคนไม่เห็นด้วยกับการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่งสัญญาณให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงหากจะตั้งส.ส.ร.ต้องมีการทำประชามติเสียก่อนว่า เป็นความเห็นของส.ว. ซึ่งทุกอย่างจะต้องไปพูดคุยกันในกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ... พ.ศ. ... รัฐบาลคงออกความเห็นอะไรไม่ได้ ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอจะเข้าไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการฯ และได้ยินว่าเขาจะนำบทสรุปหรือข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ถือว่าเป็นการดี เพราะตอนที่ชุดของนายพีระพันธุ์ เสนอนั้น ยังไม่มีร่างใดเลยแม้แต่ร่างเดียว ดังนั้น จึงต้องนำมาเทียบกันทั้งหมด
นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีที่เป็นข่าวและวิจารณ์ว่ารัฐบาลส่งสัญญาณอะไรนั้น ก็นั่งอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วย แต่ไม่เห็นว่าเป็นการส่งซิกใดๆ ทั้งนั้น เป็นเพียงมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นธรรมดาของทุกวันอังคารก่อนการประชุมครม.ที่รัฐมนตรีคนไหน หรือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนไหนมีข้อหารือหรือเล่าให้นายกรัฐมนตรีฟัง ก็มาพูดคุยเป็นธรรมดา ไม่ใช่เป็นการประชุมอะไร ส่วนใหญ่พูดคุยกันเรื่องวัคซีน ว่าจะทำอย่างไร ที่จะเอาเข้ามาได้โดยเร็ว พูดกันถึงเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และอีกหลายเรื่องที่ต้องจัดการ และมีการพูดถึงปัญหารัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ปรารภขึ้นมาว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ลงชื่อกันไปกว่า 200 คน ก็เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเสนอแล้ว ก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่นายกฯพูด ซึ่งทุกพรรคก็เห็นด้วย นายกฯก็บอกว่าอันนี้คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พูดกันแค่นี้ ไม่ได้ส่งซิกส่งอะไร ส่วนส.ว.จะเอาอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน คงต้องคุยกันในกรรมาธิการฯ
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมาธิการฯ ถ้าออกมาตรงกับแนวของเรา มันก็ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็ต้องไปช่วยกันทำความเข้าใจกับส.ส. , ส.ว.และประชาชน
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่มีส.ว.บางคนเสนอให้ทำประชามติก่อนจะตั้งส.ส.ร. นั้น ถือเป็นข้อเสนอและเป็นข้อสังเกตที่ดี พูดกันมาก่อนจะมาตั้งกรรมาธิการฯ เพราะการพูดอย่างนั้นจึงเป็นที่มาของการตั้งกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีมานั้น ตรงกับกรณีที่เกิดขึ้นในเวลานี้หรือไม่ เพราะในวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บอกไว้จริงๆว่าอำนาจมาจากประชาชน เมื่อมาจากประชาชนก็ต้องกลับไปถามประชาชน แล้วหลักดังกล่าวจะนำมาใช้กับครั้งนี้ได้หรือไม่ ก็สุดแท้แต่ ตนเองมีความเห็นแต่ไม่อยากพูด ดังนั้น ควรไปพูดคุยกันในกรรมาธิการฯ ภายใน 30 วัน ไม่ได้เพื่อจะถ่วงเวลาใดๆทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ถึงจะรับหลักการในวาระที่1 แล้วสมมติว่าไม่ได้ตั้งกรรมาธิการฯ ก็ยังเดินหน้าต่อไม่ได้ ก็ต้ังกรรมาธิการฯ พิจารณาในวาระ2 และ 3 จนกระทั่งเปิดสภาฯ พิจารณาวาระ2 รายมาตรา จนกระทั่งแล้วเสร็จต้แงทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อพิจารณาวาระ3 เสร็จแล้วต้องทิ้งไว้อีกเป็นเดือนๆ เพราะว่ายังไปทำประชามติไม่ได้
"ผมทำปฏิทินไว้ในใจว่ากว่ากฎหมายประชามติจะผ่าน ก็ไปถึงก.พ.-มี.ค.65 เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ทำเสร็จในเดือนธ.ค.ก็ต้องทิ้งเอาไว้อยู่ดี เพราะต้องรอ ไม่เช่นนั้น ไม่รู้จะไปลงประชามติกันอย่างไร ก็ต้องใช้เวลา รอบคอบ บางคนก็บอกว่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้ บางสิ่งที่กลัวบ้างก็ไม่มีเหตุผล บางสิ่งก็อาจจะมีเหตุผล ก็ควรนำมาถกกันเสียในช่วงที่สภาฯปิดสมัยประชุม เพราะถ้าสภาฯไม่ปิด การตั้งกรรมาธิการฯ เป็นการถ่วงเวลาจริงๆ แต่เมื่อสภาฯ ปิดสมัย ทำอะไรก็ไม่ได้ในสภาฯ จึงใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำเสร็จเร็วไม่ถึง 30 วัน ก็ยิ่งดีและถึงอย่างไรก็ต้องรอเปิดประชุมสภาฯวันที่ 2 พ.ย.อยู่ดี" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญฯนั้นยุ่งยากพอสมควร เพราะต้องมีพระราชกฤษฎีกาเปิดสภาฯ แล้วยังต้องมีพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งเพื่อปิดสภาฯ ซึ่งไม่แน่ อาจจะเปิดก็ได้ เพราะการเปิดสภาฯ สมาชิกก็เข้าชื่อกันขอเปิดได้ หรือโดยครม.ขอเปิด แต่ในเมื่อจะเปิดสภาฯ สมัยสามัญในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ดังนั้น ก็ต้องเปิดวันที่ 2 พ.ย. ก็สามารถประชุมร่วมกันได้เลย ไม่ได้เสียเวลาแต่อย่างใด
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าชื่อกันเสนอนั้น เขาก็มีความมั่นใจของเขาแล้ว เชื่อว่าในกรรมาธิการฯพูดกันก็เข้าใจ ในเมื่อแต่ละคนมีเหตุผลทั้งนั้นก็ให้นำมาพูดกัน ทั้งนี้ หากรับหลักการในวาระ1 แล้วตั้งกรรมาธิการฯ 45 คน มาจากสมาชิกรัฐสภา ครม.ส่งคนไปไม่ได้ คนนอกก็เป็นไม่ได้ แม้แต่ร่างไอลอว์ของประชาชน ถ้าเข้าไปได้แล้วรับหลักการให้วาระ1 ไอลอว์ก็เป็นกรรมาธิการฯไม่ได้ แต่ไปชี้แจงได้ โดยยังไม่ได้เป็นการร่างส.ส.ร. เป็นเพียงการเปิดทางให้มีส.ส.ร.