เคลียร์ทาง ‘สว.-ฝ่ายค้าน’ ปลุก‘ผีคนโกง’ คืนชีพการเมือง?

เคลียร์ทาง ‘สว.-ฝ่ายค้าน’ ปลุก‘ผีคนโกง’ คืนชีพการเมือง?

การเสนอแก้รธน.มาตรา 256 ที่ "พท.-ปชน." ชงให้รื้อเกณฑ์ 1ใน3 ของเสียงสว.ที่เห็นพ้องต่อการแก้ไข นัยคือเพื่อให้เกิดความง่าย แต่ต้องระวังไม่ให้นำไปสู่การรื้อเกณฑ์ปราบโกง กันคนทุจริตเข้าสู่การเมือง

KEY

POINTS

Key Point :

  • วาระแก้ มาตรา 256 เพื่อรื้อใหญ่ รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกยื้อเวลาออกไป 1เดือน
  • หลัง "สว.สีน้ำเงิน" ขอเวลา พร้อมอ้างเหตุผลต้องพิจารณาให้รอบคอบ
  • เมื่อการแก้ใหญ่รัฐธรรมนูญ ต้องอาศัยความเห็นพ้อง "พรรคส้ม-พรรคเพื่อไทย" จึงต้องยอมแบบจำนน
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญของพรรคใหญ่ หั่นเกณฑ์เสียงโหวตของสว. 1 ใน 3 ออกไป ซึ่งเท่ากับ "ริบอำนาจ" ของสว.
  • ทว่าประเด็นนี้ดูเหมือนมีนัยแฝง โดยเฉพาะการปลดล็อคเกณฑ์ "ยาก" ที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้เพื่อไม่ให้ "ฝ่ายผู้มีอำนาจ" ใช้ เสียงข้างมากลากไป
  • การแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย ทั้ง สว. และ ฝ่ายค้าน
  • เมื่อ "เพื่อไทย-พรรคประชาชน" จงใจตัดเกณฑ์ 1 ใน 3 ของสว. และ 20% ของฝ่ายค้านในมาตรา 256  จึงเป็นคำถามใหญ่ว่า ปูทางไปสู่การปลดล็อคเงื่อนไขทางการเมือง เพื่อปลุกผีคนโกงให้คืนสู่บัลลังก์อำนาจทางการเมืองหรือไม่

เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจาก “สว.สีน้ำเงิน” ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขที่ “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน”ต้องยอมยืดเวลารื้อ มาตรา 256 จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะมีการแก้ไขเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ไปเป็นวันที่ 13 -14 กุมภาพันธ์

ในวงหารือระหว่างคณะกรรมการประสานงาน “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายสว.” เมื่อ 8 มกราคม ตัวแทน สว.เป็นผู้ที่ยื่นเงื่อนไขนี้ แม้ ตัวแทนพรรคประชาชนจะไม่เห็นด้วย แต่ต้องยอมรับด้วยความจำนนว่า เนื้อหาที่เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณานั้น ฝ่ายที่ถูกริบอำนาจ ต้องมีเวลาศึกษาอย่างรอบคอบ

โดยเฉพาะเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 256 (3) ที่กำหนดให้คะแนนเสียงเห็นชอบ ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ ต้องได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และจำนวนดังกล่าวต้องประกอบด้วยเสียงสว.ที่เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของวุฒิสภา และ (6) กำหนดให้การออกเสียงวาระสาม ต้องมีคะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา โดยจำนวนนี้ต้องมีเสียงสว. ไฟเขียว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และสส.พรรคฝ่ายค้าน 20%

เคลียร์ทาง ‘สว.-ฝ่ายค้าน’ ปลุก‘ผีคนโกง’ คืนชีพการเมือง?

ที่ถูกกำหนดไว้อย่างตั้งใจของ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ชุดที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน เพื่อให้ใช้เป็นเกณฑ์ วัดความเห็นพ้องต้องกันร่วมกันทุกพรรคการเมือง และสว. เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลใช้บังคับกับประชาชนทุกคน อีกทั้งยังเป็นความตั้งใจ ที่ไม่ต้องการให้ใช้ “เสียงข้างมากลากไป” โดยไม่คำนึงถึงเสียงข้างน้อย

โดย “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีต รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ว่า เพื่อไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศไม่ถูกพวกมากลากไป จึงต้องกำหนดกติกาป้องกันไม่ให้แก้ง่ายเกินไป โดยหลายประเทศนั้นกำหนดเกณฑ์ให้แก้ยาก เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางพวก

“หากตัดเกณฑ์ที่เขียนป้องกันไว้ออกไป จะกลายเป็นว่าจะทำให้เกิดการใช้พวกมากลากไป แก้ไขตามใจของตัวเอง ตอนนี้ที่มีเกณฑ์ไว้ จะทำอะไรต้องผ่าน สว. และที่กำหนดเกณฑ์ประชามติไว้ด้วย เพื่อให้ได้รับความเห็นพ้องทั้งในรัฐสภาและสังคม” อดีต กรธ. ระบุไว้

ในการตัดเกณฑ์ป้องกันเสียงข้างมากลากไปที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เสนอในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้การตัดเกณฑ์เห็นพ้องของฝ่ายค้านออกไป จะไม่ถูกโต้แย้งจากพรรคประชาชน ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน เพราะยินดีที่จะตัดอำนาจตนเองออกไป หวังรวบรัดการแก้รัฐธรรมนูญให้ “ง่าย”

ทว่า “สว.” เสียงข้างมากในปัจจุบันไม่อาจยอมให้อำนาจของตนเองหลุดมือไป ซึ่งอาจมีเหตุผลทางการเมืองที่แฝงไว้ โดยเฉพาะ “ตำแหน่ง” ในปัจจุบัน

ต่อเรื่องนี้ “เสรี สุวรรณภานนท์” อดีต สว.62 และ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ 40-50 ให้มุมมองไว้ว่า การตัดเกณฑ์เห็นพ้องของ สว. 1 ใน 3 นั้นอาจเป็นไปได้ยาก เพราะคนที่มีอำนาจมักไม่ยอมปล่อยให้อำนาจหลุดมือ อีกทั้งไม่มีหลักประกันอะไรที่การันตีได้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อสถานะ หรือต้องพ้นจากตำแหน่งไปก่อนกำหนด เพราะเนื้อหาอาจถูกเขียนให้ สว.ปัจจุบันสิ้นสถานะไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นที่มา

“ผมเข้าใจว่า การกำหนดเกณฑ์เสียงสว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 และมีฝ่ายค้านเห็นพ้อง 20% เป็นเจตนาที่ อ.มีชัย ต้องการให้แก้ไขยาก หากไม่ได้รับความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย หากมีบางฝ่ายแก้ไขเพื่อรักษาประโยชน์ของตัวเอง หรือฝ่ายการเมืองเขียนอะไรตามใจของตัวเอง จะทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จ” เสรี ระบุ

นอกจากนั้น ในมุมการเมืองที่ “พรรคใหญ่” แย่งชิงความได้เปรียบทางการเมือง อดีตสว.เสรี บอกว่า ในทางการเมืองไม่มีใครไว้ใจใคร อนาคตข้างหน้าไม่รู้ว่าประชาชนจะลงคะแนนให้ใคร ดังนั้นฝ่ายการเมืองจึงต้องพยายามทำเพื่อให้ตัวเองเป็นแกนนำ ได้เป็นนายกฯ ส่วนการรื้อรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายการเมืองพยายามทำให้ง่ายขึ้น อาจเป็นได้ว่าเพื่อประโยชน์ของตนเอง

เคลียร์ทาง ‘สว.-ฝ่ายค้าน’ ปลุก‘ผีคนโกง’ คืนชีพการเมือง?

ทั้งนี้ มีการตั้งมุมมองว่า ในภาวะที่สภาฯปัจจุบัน  2 พรรคใหญ่ ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ร่วมมือกันและนำไปสู่การรื้อรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ อาจนำไปสู่การเขียนบทบัญญัติ ปล่อยผีคนโกงเข้าสู่การเมือง ตัดเกณฑ์จริยธรรมเพื่อคุมประพฤตินักการเมือง เรื่องนี้ “อดีตสว.เสรี” มองว่า เป็นไปได้ยาก หากไม่ได้รับความร่วมมือ แต่หากพวกเขาคุยกันบนผลประโยชน์ที่ลงตัว อาจจะเป็นไปได้

ในกลเกมตัดเกณฑ์เห็นพ้องของ สว. และฝ่ายค้านในรัฐธรรมนูญ ที่ พรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย เดินไปในทิศทางเดียวกันนั้น “เสรี” มองว่า หากเขาสามารถทำได้ และทำในระบบ คงเถียงอะไรเขาไม่ได้ แต่ต้องระวังการใช้พวกมากลากไป ที่ทำให้ระบบตรวจสอบอ่อนแอ และต้องคำนึงด้วยว่า ความแข็งแรง ความมั่นคงทางการเมืองจะดีอยู่อีกหรือไม่ ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ

กับเกมแก้รัฐธรรมนูญหลังจากนี้ แม้จะไม่ชัดเจนว่า การจัดทำฉบับใหม่จะมีเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่ระยะเวลา 1 เดือนกว่าจากนี้ ที่ถึงคิว “รัฐสภา” ได้ฤกษ์พิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคิดให้รอบคอบ และคิดให้ลึกซึ้ง

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า แกนนำ-คนเบื้องหลัง “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน” ต้องการปลดบ่วงคล้องคอที่ “คณะรัฐประหาร 2557” ตั้งใจเขียนไว้ใน “รัฐธรรมนูญ 2560” เพื่อคืนชีพสู่เวทีการเมือง และขึ้นครองบัลลังก์อำนาจหลังจากนี้.