ปฏิรูปด้านสธ.ชง'ลดงบฯรักษา-เพิ่มงบฯป้องกันโรค'

ปฏิรูปด้านสธ.ชง'ลดงบฯรักษา-เพิ่มงบฯป้องกันโรค'

คกก.ปฏิรูปด้านสธ. ชงปรับสัดส่วนงบฯด้านสุขภาพ ลดเงินใช้รักษาพยาบาลเหลือ 35 %เพิ่มเงินป้องกันโรคเป็น 50 % ขณะที่องค์กรธุรกิจดูแลลูกจ้างมีสุขภาพดี เล็งปรับลดเงินสมทบเข้าประกันสังคม

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข ว่า รัฐบาลได้ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านกลับไปทบทวนแผนการปฏิรูปในด้านนั้นๆ อีกครั้งให้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด -19 นั้นสถานการณ์ทั่วโลกและไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้นต้องมีการปรับใหม่ ให้เกิดประโยชน์จริง โดยมี 5 เรื่องที่ต้องดำเนินการ

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวอีกว่า 1.การจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ อย่างโรคโควิด-19 ที่กำลังเผชิญกันอยู่ขณะนี้แม้ว่าประเทศไทยจะจัดการได้ดี แต่ยังพบจุดบกพร่องอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ไม่สามารถบังคับคนเข้าสถานที่กักกัน ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามาช่วย ดังนั้น จึงต้องปรับแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อใหม่ให้มีอำนาจในการจัดการสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ทันสำหรับการนำมาใช้กับโรคโควิด-19 แต่ก็เพื่อรองรับโรคระบาดอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ส่วนการจัดการโควิดในวันนี้ ยอมรับว่ายังจำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามาดูแล แต่ก็เป็นการใช้จัดการเฉพาะโรคระบาดเท่านั้น ไม่ได้เอาไปใช้กับเรื่องอื่นๆ แต่ที่ยังมีคนบางกลุ่มต่อต้านอาจจะเป็นเพราะหลักการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

2.การปฏิรูปและส่งเสริมความรู้ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของโลกและของไทย และเฉพาะในไทยพบว่าในระยะ 10 ปี มีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยรายเก่าก็มีอยู่ 10 ล้านคน และจากข้อมูลพบว่าคนที่สามารถควบคุมความดัน ควบคุมน้ำตาลได้ตามมาตรฐานสาธารณสุขมีเพียง 25 % เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะไปเน้นการรักษา ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรม นอกจากนี้ ปัจจุบันคนวัยแรงงานกว่า 40-50% ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองป่วยมีโรคเบาหวาน ความดัน จะรู้ตัวอีกทีก็พบว่าป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองไปแล้ว จึงต้องดูแลคนไทยให้มีสุขภาพดีกว่านี้ โดยเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ต้องเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นสำคัญ

“ต้องมีการปรับเรื่องงบประมาณ จากเดิมที่เน้นงบประมาณการรักษาพยาบาล ก็ต้องปรับใหม่ จาก 70% มาเป็น 35% แล้วไปเพิ่มงบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจาก 10 % ให้อยู่ที่ประมาณ 50% และส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจ จัดแผนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเอาไว้ในงานทรัพยาการบุคคง แค่ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างเดียวไม่พอ ต้องติดตามการปฏิบัติตัวเพื่อมีสุขภาพดีด้วย ไม่ใช่ให้เข้าประกันสังคมแล้วปล่อยให้ดูแลกันเอง อาจจะมีการสร้างแรงจูงใจโดยการปรับลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้ เรื่องนี้ต้องทำจริงจังโดยจะเสนอเข้าครม.เพื่อออกเป็นข้อบังคับ”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดมกล่าว

3. การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศให้มีสุขภาพดี โดยมีระบบการรักษาพยาบาลที่บ้าน/ชุมชน และการดูแลสุขภาพตนเองในระบบสุขภาพปฐมภูมิ เชิงนวัตกรรม 4. ปรับระบบการเงินการคลัง ให้มีเอกภาพและมีแนวทางการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 5. การปฏิรูปเขตสุขภาพให้มีระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการ คล่องตัว และการร่วมรับผิดชอบด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่น นำร่องในเขตสุขภาพ 4 แห่ง ซึ่งจะมีการหารือและกำหนดพื้นที่ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ แนวทางทั้งหมดจะนำเข้าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหญ่ในวันที่ 15 ต.ค.นี้

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขอยืนยันเรื่องการใช้จุดแข็งของระบบสุขภาพ มาดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการให้บริการ การจัดสรรงบฯ ที่นำไปใช้ในการวิจัยศึกษา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ในยุคที่ไทย ต้องพบกับโรคระบาดพร้อมกับคนทั่วโลก ประเทศไทยที่สามารถจัดการเรื่องสุขภาพดีเยี่ยม หวังว่าจะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยปัจจัยต่างๆ ประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งเรื่องของประสบการณ์ ความรู้ และความร่วมแรงร่วมใจของคนไทย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการฯ อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น.