'ศรีพันวา-เขาแพง-ป่าแหว่ง' ปัญหามาตรฐาน 'เอกสารสิทธิ์'
เมื่อภาคประชาชน ลุกขึ้นมาตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงเหลือมากที่สุด
จากแฮชแท็กร้อนแรง #แบนศรีพันวา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสึนามิลูกใหญ่ไปถึงการตรวจสอบ “ที่ดิน” โรงแรมศรีพันวา บนพื้นที่ 79 ไร่ ใน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ภายหลัง “วรสิทธิ์ อิสสระ” หรือปลาวาฬ ผู้บริหารโรงแรมศรีพันวา ออกมาแสดงความเห็นถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.
เมื่อความเคลื่อนไหวที่มาจากคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าชี้แจงถึงการตรวจสอบที่ดินโรงแรมศรีพันวา
กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดสัปดาห์ ที่แรงกดดันไปถึงโรงแรมศรีพันวา ว่าก่อสร้างตั้งแต่เมื่อไหร่ มีที่ดินกี่แปลง โดยเฉพาะที่ดินดังกล่าวเป็นป่า หรือเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ จนมาถึงขั้นตอนการออกเอกสารสิทธิ์ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จากคำชี้แจง “นิสิต จันทร์สมวงศ์” อธิบดีกรมที่ดิน ระบุถึงเนื้อที่โรงแรมศรีพันวา มีที่ดินทั้งหมด 79 ไร่ เดิมเป็นของประชาชนในพื้นที่จนกระทั่งมีประมวลกฎหมายที่ดินประกาศออกมา ประชาชนจึงเข้าแจ้งครอบครองตั้งแต่ปี 2498 จุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจาก ส.ค.1 ของประชาชนในพื้นที่ ต่อมาออกเป็น นส.3 และ นส.3 ก. จากนั้นในปี 2546 ปี 2558 และปี 2559 โครงการศรีพันวาได้เข้าไปซื้อที่ดินต่อจากประชาชนในพื้นที่
ส่วนประเด็น “การครอบครอง” ยังทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้หรือไม่ “กรมที่ดิน-กรมป่าไม้” ยืนยันว่า ที่ดินไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ หรือพื้นที่ป่า ซึ่งโครงการศรีพันวาตั้งอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน และอยู่ห่างจากป่าสงวน 3 กิโลเมตร
โรงแรมศรีพันวา บนพื้นที่ 79 ไร่ ใน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต
จากที่ตั้งโรงแรมศรีพันวา อยู่บนเชิงเขาใน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต กลับเป็นข้อสังเกตที่ “วีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน นำหลักฐาน 162 แผ่น พร้อมภาพถ่ายพื้นที่โครงการศรีพันวา ยื่นถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เข้าตรวจสอบพื้นที่ เพราะเชื่อว่าอาจมีการออกเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินโดยมิชอบ และเชื่อว่ามีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะสิ่งที่ “วีระ” เชื่อว่า เจ้าของที่ดินคนแรกที่ไปขอออกเอกสาร นส.3 ก ก่อนจะนำที่ดินไปขายให้เจ้าของโรงแรมศรีพันวา ได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็น นส.3 ก โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านหลายครอบครัวอาศัยในพื้นที่พยายามยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์กับเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ถูกปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นเขตป่าสงวน และกองทัพเรือสงวนสิทธิ์เอาไว้ แต่เมื่อมีนายทุนเข้ามาขอซื้อ เหตุใดสามารถออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก ได้
ขณะเดียวกัน กรณีที่ดินแห่งนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับคดี “ธวัชชัย อนุกูล” อดีตเจ้าพนักงานที่ดิน สาขาท้ายเหมือง จ.พังงา ผู้ต้องหาในคดีปลอมแปลงเอกสาร และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จ.พังงาและภูเก็ต โดยมิชอบ เนื่องจากพบว่าลักษณะที่ดินที่ “ธวัชชัย” เคยออกเอกสารสิทธิ์ให้ มีลักษณะคล้ายกับที่ดินของโครงการศรีพันวา โดยการออกโฉนดบนพื้นที่ภูเขาที่มีความ “ลาดชัน” เกินกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ หรือ 19.2 องศา ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถออกให้ได้ แต่ในประเด็นนี้ “อธิบดีกรมที่ดิน” ออกมาชี้แจงว่า ไม่มีชื่อบุคคลดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินศรีพันวา
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Khwanjai Khumban” ได้ออกมาให้ข้อมูลอีกด้าน เรื่องที่ดินของศรีพันวาว่า
“ที่ผืนนี้ เดิมเป็นที่ดินของนายเสน คุ้มบ้าน และนายสันต์ คุ้มบ้าน ขายให้กับศรีพันวาตั้งแต่ขวัญ อายุ 9 ขวบแล้ว เพราะเป็นที่พ่อขวัญเอง ขายไร่ละ 6 แสนบาท เป็นพื้นที่ด้านหน้าสุด 12 ไร่ ส่วนด้านหลังเป็นของญาติกัน มีโฉนดที่ดินพร้อมยืนยันได้ และติดกับพื้นที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อควาเรียม หากไม่มีโฉนดถูกต้อง โดนอควาเรียมฟ้องมาก่อนจะขายนะคะ”
สำหรับกรณีการเข้าตรวจสอบที่ดินโรงแรมศรีพันวาครั้งนี้ ถูกนำไปเทียบเคียงกับคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากคดีบุกรุกที่ดินบนเขาแพง ในสำนวนที่ “ดีเอสไอ” ยื่นฟ้องกรณีครอบครองที่ดินบนเขาแพง หมู่ 6 ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่โดยมีชื่อนายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชาย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ครอบครอง ซึ่งคดีนี้มีการตรวจสอบการได้มาของที่ดิน และกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในที่ดิน 5 แปลง ตามโฉนดเลขที่ 28109 , น.ส.3 ก.เลขที่3301 , 3302 และ 3285 ของนายแทน และ น.ส.3 ก.เลขที่ 1894 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และโฉนดที่ดินเลขที่35410 ของบริษัท ชนาพันธุ์ จำกัด
ถึงแม้คำตัดสินของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2559 พิพากษาว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริงให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ส่วนนายแทนและพวกซึ่งเป็นจำเลยที่ 3-4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ จำคุกรายละ 3 ปี แต่แล้วเมื่อ 21 ต.ค.2561 ศาลอุทธรณ์ มีพิพากษา“ยกฟ้อง” นายแทนพร้อมพวก 4 คน เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ชัดว่าจำเลยบุกรุกที่ป่าหรือที่ดินของรัฐ
สำหรับพฤติการณ์ของคดีพบว่าระหว่างวันที่ 27 ก.ย.2543 ถึงวันที่ 5 ต.ค.2544 จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครองทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา โดยที่จำเลย 3-4 ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งคดีนี้ใช้เวลาถึง 6 ปีจนคดีถึงที่สุด
ตารางเปรียบเทียบสถิติทำผิดกฎหมายบุกรุกป่า เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 2557-2561
ไม่เพียงเท่านี้ในคดีการบุกรุกป่าที่ผ่านมา ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการภาค 5 บนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2561 รวม 4 โครงการ พื้นที่ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา มูลค่า 1,017 ล้านบาท ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมการใช้ “พื้นที่สีเขียว” ที่เชื่อมต่อกับผืนป่าดอยสุเทพ
ถึงแม้โครงการนี้เป็นการใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ผ่านผู้ว่าฯเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2549 ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุปี 2518 แต่โครงการนี้กลับถูกทักท้วงอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ จนในที่สุด มีผลสรุปให้คืนพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่า ส่วนคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเพื่อย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ไปก่อสร้างที่ จ.เชียงราย
จากปัญหาที่ดินลักษณะดังกล่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงสถิติการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ระหว่างปี 2552-2561 พบว่าในปี 2561 มีจำนวนคดีบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,519 คดี มีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกรวม 33,783.57 ไร่ โดยลดลงจากปี 2560 ที่มีจำนวนคดีบุกรุก 1,883 คดี มีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกรวม 41,075.23 ไร่
ส่วนเขตพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี 2561 มีจำนวนคดีบุกรุก 1,571 คดี และมีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกรวม 21,839.40 ไร่ ลดลงจากปี 2560 ที่มีจำนวนคดีบุกรุก 2,081 คดี และมีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกรวม 35,607.82 ไร่
แม้ที่ดิน 3 กรณีดังกล่าว จะถูกตรวจสอบในแต่ละบริบท ตามเงื่อนไข ความเหมาะสม และข้อเท็จจริงทางกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดก็ยังคงถูกสังคมตั้งคำถาม ถึงที่มาเอกสารสิทธิ์ซึ่งเกี่ยวโยงถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐว่าดำเนินการถูกต้องตั้่งแต่ต้นหรือไม่ ซึ่งที่สุดแล้วจะหมายถึงการทำหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกตั้งคำถามไม่รู้จบถึงมาตรฐานการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
โดยภาคประชาชน จะลุกขึ้นมาตรวจสอบอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงเหลือมากที่สุด.