กทม. พร้อมรับพายุ 'ดีเปรสชั่น' ถล่มกรุง คาดฝนทะลุ 100 มม.
กทม.พร้อมรับพายุดีเปรสชั่น หอบฝนถล่มกรุง ผู้ว่าฯ อัศวิน คาดโดนเต็มๆ ปริมาณฝนอาจเกิน 100 มิล ลงพื้นที่รับมือเต็มที่ ซักซ้อมแผนระบายน้ำ และ อำนวยคสามสะดวกประชาชน
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 63 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ราชการกรุงเทพมหาร พร้อมด้วย นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. และ นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมสำนักการระบายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ "พายุดีเปรสชั่น " ที่จะเคลื่อนผ่าน ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วง 7-9 ต.ค. โดยคาดการณ์ว่า จะเริ่มมีฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงค่ำวันนี้ (7 ต.ค.)
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรุงเทพมหานคร จะโดนพายุฝนเต็มๆ หากโชคดีปริมาณฝนจะไม่เกิน 100 มิลลิเมตร แต่เชื่อว่าปริมาณฝนที่คาดการณ์ไว้ จะเกิน 100 มิลลิเมตร ซึ่ง กทม. เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมรอระบาย และดำเนินการแก้ไขการระบายน้ำมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ส่วนการรับมือฝนระลอกนี้ ได้มีการเตรียมพร่องน้ำในคลองระบายน้ำ มี water bank หรือบ่อหน่วงน้ำรับมือ 3 จุด รวมถึงระบบการระบายน้ำ ถนนสายหลัก Pipe Jacking ระบายน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชน และผิวจราจร ระบายลงสู่คลอง ที่ผ่านมาเคยเจอฝนมากกว่า 150 มิลลิเมตร เมื่อเดือน ส.ค. 63 ใช้เวลาบางจุดช้าสุด 3 ชั่วโมงระบายน้ำ ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝน 100 กว่ามิลลิเมตร มีจุดที่ระบายได้ช้า คือ สุขุมวิท71 และพื้นที่แอ่งกระทะ ศรีนครินทร์ เชื่อมต่อเทศบาลสำโรงใต้ สมุทรปราการ
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ผู้บริหาร กทม. ได้กระจายกันลงพื้นที่ โดยเฉพาะฝั่งธนบุรีที่ยังไม่มีอุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าห่วง ถนนศรีนครินทร์ แยกวัดศรีเอี่ยม ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำแอ่งกระทะ ที่ผ่านมาประสานกับ รมว.คมนาคม และกรมทางหลวงรับมือโดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา
ด้าน นายสมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมซักซ้อมแผนหากปริมาณฝนเกิน 100 มิลลิเมตร ในการแจ้งเตือน และการรายงาน และ ยังได้เตรียมแผนรับมือการช่วยเหลือประชาชน
นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ มั่นใจว่า ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่หากเกิน 100 มิลลิเมตร จะมีหน่วย Best เข้าดูแล และการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือตามจุดต่างๆ เช่น รถยนต์จอดเสีย นอกจากถนนสายหลักตามตรอกซอยหมู่บ้าน ได้ให้เตรียมเครื่องสูบน้ำทั้ง 50 เขต เตรียมความพร้อมป้องกันน้ำรอระบาย พร้อมกับเตรียมรถสูงไว้คอยอำนวยความสะดวกประชาชน ในกรณีที่ทำท่วมรอระบายสูง
สำหรับวันพรุ่งนี้ (8 ต.ค.) ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่อุโมงค์ และประตูระบายน้ำพระราม 9 ตรวจดูขยะหน้าตระเเกรง และจะลงพื้นที่ปฏิบัติการทุกวัน จนกว่าสถานการณ์พายุฝนจะผ่านพ้น
ขณะเดียวกันสำนักการระบายน้ำ ระบุว่า จากการหารือร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า หลังดีเปรสชั่นเคลื่อนผ่านจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังเเรงก่อตัวเป็นพายุอีก 1 ลูก ช่วง 12-14 ต.ค. 63 อาจจะเคลื่อนเข้ามา ซึ่งต้องรอดูมวลอากาศเย็นที่จะลงมา อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลง