ผ่าปม ‘กรุงเทพฯ’ กับปัญหา ‘น้ำท่วม’ ซ้ำซาก แต่ไม่ไร้ทางออก!

ผ่าปม ‘กรุงเทพฯ’ กับปัญหา ‘น้ำท่วม’ ซ้ำซาก แต่ไม่ไร้ทางออก!

ทำอย่างไรปัญหา "น้ำรอระบาย" ที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในเขตพื้นที่ "กรุงเทพฯ" จะเจอทางออก? มาฟัง รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา กับแนวทางแก้ปัญหานี้กันว่า.. ควรเป็นอย่างไร?

ฝนมาครั้งใด ปัญหาคลาสสิกนิรันดร์กาลของชาว กทม. ก็คือ "น้ำท่วม" ซ้ำซาก ระบายไม่ทัน ในหลายๆ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จนชาวกรุงจำนวนไม่น้อยคงเริ่มทำใจว่า เราจะต้องอยู่กับปัญหานี้ไปอีกนาน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นเรื่อง "น้ำท่วมซ้ำซาก กับผังเมืองกรุงเทพฯ" ว่า ตกแล้ว ที่ชาวกทม. ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมรอระบายซ้ำซากในทุกครั้งที่ฝนตกหนักนั้น เป็นเพราะ "ผังเมือง" มีปัญหาจริงหรือไม่ 

รศ.ดร.พนิต กล่าวว่า อธิบายว่า น้ำท่วมทุกวันนี้ไม่เป็นเหมือนปี 2554 ปัญหาที่เกิดขึ้นคือระบายน้ำไม่ทัน เกิดจากการจัดการไม่เกี่ยวกับผังเมือง หรือพูดอีกอย่างก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ "โครงสร้างพื้นฐานในการระบายน้ำ" ทำไม่ทันนั่นเอง

การวางผังเมืองและระบบป้องกันน้ำท่วม หลักการพื้นฐานของโลกคือ ในพื้นที่ที่ไม่อยากให้นำ้ท่วม นั่นคือพื้นที่เมือง สร้างกำแพงล้อมพื้นที่เมืองไว้ เพื่อให้นำ้เบี่ยงออกข้างนอก และจัดการเฉพาะน้ำฝนพื้นที่เมืองเท่านั้น

อย่างเช่นพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีคันกั้นน้ำพระราชดำริเพื่อป้องกันให้พื้นที่ภายในน้ำไม่ท่วม รวมถึงริมน้ำเจ้าพระยายังมีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ส่วนฝนที่ตกข้างนอกก็เบี่ยงลงฟลัดเวย์ตะวันออกและแม่น้ำท่าจีน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงกลาง ขณะเดียวกันตามหลักการต้องมีแก้มลิงอยู่สองฝั่ง เพื่อเก็บน้ำไว้ในกรณีที่น้ำทะเลหนุน ทำให้ยังไม่สามารถผันน้ำออกทะเลได้ แต่เมื่อน้ำทะเลลงก็เดรนน้ำออกไป

แต่ของกรุงเทพฯมีแก้มลิงเพียงฝั่งเดียว เนื่องจากอีกฝั่งหนึ่งมีแซนด์ดูนส์ (Sand Dunes) บริเวณอ่าวไทย ซึ่งทำหน้าที่แก้มลิงอยู่แล้ว ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ 14 จุดที่ระบายไม่ทัน ก็ใช้อุโมงค์ยักษ์ช่วยดึงน้ำออกแม่น้ำ ดังนั้นจริงๆ แล้วกรุงเทพฯมีระบบที่ดี แต่ปัญหาคือ ถ้าฝนมาพร้อมน้ำทะเลหนุน ระบายไม่ทัน แม้พร่องน้ำในคลองน้ำรอ แต่น้ำออกปากแม่น้ำไม่ได้

แล้วทางออกของน้ำท่วมซ้ำซากกรุงเทพฯ จะต้องแก้อย่างไร?

1.ผังเมืองต้องบังคับให้ใช้ตามผังเมืองที่วางไว้

อย่างเช่น ในปี 2554 ที่เกิดเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพ เพราะว่าน้ำไม่ได้ไหลไปพื้นที่ฟลัดเวย์ตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ระบายน้ำ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นกฎหมายกำหนดให้เป็นพื้นที่เขียวลายฝั่งตะวันออก ห้ามจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย แต่ปรากฏว่าบริเวณนั้น คือบริเวณมีนบุรี คลองสามวา และเขตลาดกระบัง มีหมู่บ้านจัดสรรกว่า 400 กว่าโครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่เกิน 500 หลัง

160224509995

ที่มาภาพ : https://www.posttoday.com/social/local/117436

2.ฟิกซ์ระดับถนน

อีกหนึ่งวิธีในการป้องกันน้ำท่วมเมือง และเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ค่อนข้างจะถาวร คือ ต้อง FIX ระดับถนนของเมืองก่อน ซึ่งยังไม่ต้องสนใจว่าน้ำท่วมหรือไม่ เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ตรองไหน

หากบริเวณไหนที่ต่ำสุดก็ตั้งเครื่องสูบน้ำ ซึ่งในเมืองเก่าหลายประเทศทั่วโลก ก็มีการทำระบบแบบนี้เช่นกัน หากมีการสร้างถนนสูงกว่าบ้าน อาจมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดคือ ถนนจะสูงกว่าบ้านไม่ได้ เพราะหน้าที่ของถนนคือรับน้ำจากบ้าน และคำนวณว่าพื้นที่ที่ก่อให้เกิดน้ำเป็นเท่าไร เพราะฉะนั้นถนนต้องต่ำกว่าบ้านเสมอ

ขณะที่ปัญหาในไทยคือ รู้ว่าบริเวณที่ต่ำที่สุดและมีการติดเครื่องสูบน้ำไว้พร้อม แต่เมื่อได้งบประมาณมา "ยกระดับถนน" ทำให้น้ำไหลไปที่อื่นที่ต่ำกว่า แต่เครื่องสูบน้ำไม่ได้ถูกย้ายตามไปด้วย ซึ่งการยกระดับถนนสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องวางแผนให้เรียบร้อยว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ระดับถนนจะอยู่ตรงไหนบ้าง เมื่อรู้จุดที่ต่ำที่สุด ก็จะได้รู้ว่าจะไปแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร

หรืออย่างปัจจุบัน "14 พื้นที่ลุ่มต่ำ" ก็มีอุโมงค์ยักษ์เข้ามาช่วย เมื่อวิธีการคือเมื่อมีน้ำมาจากทางเหนือ ก็จะเร่งให้น้ำออกทางใต้ให้เร็วที่สุด แต่ด้วยความที่อยู่ปากอ่าวมากเกินไป จะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ซึ่งหากฝนตกในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุน น้ำก็จะออกไปไม่ได้ นี่คือปัญหาว่าจะจัดการน้ำได้อย่างไรบ้าง

3.แยกท่อระบายน้ำฝน ออกจากท่อระบายน้ำเสียครัวเรือน

ขณะนี้ปัญหาอยู่ที่ระบบท่อของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงค่อนข้างยาก ปัญหาหลักๆ คือ "ท่อระบายน้ำฝน" กับ "ท่อระบายน้ำเสียครัวเรือน" เป็นท่อเดียวกัน ส่งผลให้จัดการยาก

ขณะที่ปัจจุบันมหานครทั่วโลกแยกท่อออกจากกันแล้ว แทบไม่มีที่ใดที่เป็นลักษณะท่อเดียวกับกรุงเทพฯ เมื่อระบบเป็นแบบท่อรวม จึงทำให้ประสิทธิภาพต่ำไปด้วย เพราะทั้งสองท่อไม่ควรอยูด้วยกัน น้ำเสียครัวเรือนควรอยู่ในระบบปิดเพื่อจะได้เข้าสู่ระบบบำบัดได้ และไม่ให้สัตว์พาหะเข้าไปแพร่เชื้อ

160224568316

นึกภาพง่ายๆ เมื่อน้ำเสียครัวเรือนที่ออกมาทุกวันและมีในปริมาณที่พอๆ กันทุกวัน แต่น้ำฝนส่วนใหญ่มาช่วงหน้าฝนและมาล็อตใหญ่ ปัญหาคือท่อระบายน้ำที่มีไว้รองรับอะไร ระหว่างออกแบบไว้สำหรับระบายน้ำฝน ที่มีสารแขวนลอยต่ำ สามารถรองไว้ใช้ได้ หรือน้ำเสียครัวเรือนที่มีเศษอาหารและขยะต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นท่อระบายน้ำเดียวกัน หมายความว่า ท่อระบายน้ำฝนมีโอกาสตันสูงมาก ขณะเดียวกันน้ำท่วมแป๊บเดียวน้ำก็เน่าแล้ว

จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ก็มีการทำท่อระบบบำบัดน้ำเสียครัวเรือนแล้ว แบ่งตามเขตของกรุงเทพฯเป็น 21 เขต ขณะนี้ทำเสร็จทั้งหมดแล้ว แต่สามารถเปิดใช้ได้ราว 8 เขต ที่เหลือยังไม่สามารถเปิดทำการได้ เนื่องจากยังไม่สามารถเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้

4.เคลียร์เรื่องหาบเร่แผงลอย มีระบบจัดการที่ดี และเก็บขยะให้ทัน

5.ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีทะเบียนอยู่ในกรุงเทพฯ ควรย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณตรงตามจำนวนประชากรจริง เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณนั้นจะคำนวณตามประชากรที่อยู่ในทะเบียนบ้าน อย่างในกรุงเทพฯก็ยังเพียงพอ เนื่องจากประชากรในทะเบียนมีอยู่ 5.9 ล้านคน แต่อาศัยอยู่จริงเกือบ 10 ล้านคน หากคนที่มาอาศัยย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา กรุงเทพฯก็จะได้งบประมาณตามนั้น

มองจากแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกรุงเทพฯแล้ว น่าจะช่วยพลิกปัญหาระดับชาติให้เกิดขึ้นได้จริง และจะตอบโจทย์หนึ่งในสิ่งที่ชาวกรุงหลายคนคาดหวังไว้