จับตา 'สภาพัฒ์' นัดถกช่วยเหลือลูกหนี้ัวันนี้ เล็งหามาตรการแทนการพักชำระหนี้
จับตา 'สภาพัฒ์' นัดถกหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งรัฐเอกชน เล็งเสนอ ศบศ.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ัธุรกิจ -เอสเอ็มอี หลังมาตรการพักชำระหนี้หมดอายุ คาดยืดระยะเวลาชำระหนี้ ลดความเสี่ยงสภาพคล่องธุรกิจ และการเพิ่มของเอ็นพีแอลของธนาคาร
รายงานข่าวจาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าในวันนี้ (14 ต.ค.) เวลา 9.30 น. สภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลหนี้สินของประชาชน ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอี ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมตลาดทุนไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพแห่งประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนของสถาบันการเงิน มาร่วมหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีภาระหนี้สินและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้การประชุมของ สศช.ในวันนี้เป็นไปตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมที่ได้สั่งการในศูนย์การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ที่ได้ให้ไปดูแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้เข้าโครงการพักชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆในช่วงที่มีโควิด-19 ปัจจุบันบางส่วนได้ครบระยะเวลาพักหนี้ หรือใกล้จะครบระยะเวลาพักหนี้แล้วจึงต้องมีมาตราการรองรับเพื่อไม่ให้กระทบสภาพคล่อง และไม่ทำให้เกิดปัญหา NPL ต่อไป
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่าการพักหนี้ที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับประชาชนประมาณ 12 ล้านคน และมีมูลหนี้สะสมประมาณ 7 ล้านล้านบาท โดยได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินไปติดตามลูกหนี้ของธนาคารอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างไร โดยให้เน้นที่การปรับโครงสร้างหนี้ แทนการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เปิดเผยว่าการหารือกันในวันพุธที่ 14 ต.ค.นี้แนวทางการแก้ปัญหาที่มีการคุยกันไว้ก็คือว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องลงไปดูแลลูกค้าของตัวเองว่าใครที่ดูแล้วไปไม่ได้ พอเริ่มไปไม่ได้ต้องเริ่มปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ส่วนคนที่พอไปได้คือเมื่อเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้สามารถจ่ายดอกเบี้ย ผ่อนหนี้ได้กลุ่มนี้ไม่ต้องห่วงมาก แต่อาจต้องมีเงินกู้อีกลักษณะเข้ามาเสริม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งในช่วงที่ล็อกดาวน์มีการพักหนี้ดอกเบี้ยถูกรวมเข้ามาเป็นก้อนก็จะเป็นภาระให้ลูกหนี้ ซึ่งดอกเบี้ยส่วนนี้หากสามารถที่จะเลื่อนการจ่ายออกไปได้ก่อนหรือยืดหนี้ให้เป็นระยะเวลาที่ยาวออกไป ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่หนี้เอสเอ็มอีเป็นหนี้ในบัตรเครดิตก็จะไปพันกับหนี้ครัวเรือนซึ่งก็อันตราย ก็ต้องไปดูว่าพวกนี้จะช่วยยังไงอาจจะต้องมีมาตรการพิเศษมาช่วยอีก
“หนี้ที่จะมารวมกันเป็นจำนวนมากในช่วงที่หมดระยะเวลาพักชำระหนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง หากเราไม่สามารถมีมาตรการในการแก้ได้ทัน แล้วหนี้จำนวนนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล เกิดต้องปรับโครงสร้างหนี้กันมากๆก็จะกลับมาพันที่ธนาคารพาณิชย์อีกเช่นกัน ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเกิดขึ้นธนาคารพาณิชย์ก็ต้องไปบริหารจัดการ ที่ผ่านแบงก์ชาติก็ออกมาตรการต่างๆเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อม และเป็นไปได้ว่าเมื่อทุกธนาคารไปดูข้อมูลทั้งหมดแล้วได้จำนวนสภาพหนี้ประเภทต่างๆออกมา แบงก์ชาติก็อาจจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมได้ โดยทางเลือกที่จะเกิดขึ้นเพื่อดูแลเอสเอ็มอีจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นต้องไปหารือกันให้ชัดเจน และเอสเอ็มอีที่จะช่วยก็ต้องไปรอดด้วยเพราะภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด”
นอกจากมาตรการและแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอียังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว เช่นสายการบินที่มีการขอซอฟท์โลนจากรัฐบาลโดยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีมาแล้ว รวมถึงบริษัททัวร์ที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่ฟื้นตัว