KBANK เดินหน้าช่วยลูกค้าต่อ หลังหมดมาตรการพักหนี้
กสิกรไทยเดินหน้าส่งมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง หลังมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยครบกำหนดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ชี้ลูกค้า 81% กลับมาชำระหนี้ได้ปกติ ส่วนลูกค้าที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เนื่องจากยังขาดสภาพคล่อง แบงก์เตรียมช่วยต่อเนื่อง
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
. ซึ่งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ลดยอดการผ่อนต่อเดือน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และสนับสนุนเงินทุนด้วยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลผ่านมาตรการระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว 860,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการ 360,000 ล้านบาท
ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ธนาคารได้มีการเตรียมความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
โดยมีการติดต่อสอบถามลูกค้าแต่ละรายอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดของลูกค้า ทั้งนี้จากการเข้าพบลูกค้าผู้ประกอบการที่เข้ามาตรการฯ ประมาณ 100,000 ราย พบว่าราว 81% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ
ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคมีเพียง 18% ที่ต้องการมาตรการช่วยเหลือต่อ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และส่วนที่เหลือมีการปิดกิจการไปแล้ว
สำหรับลูกค้าที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระปกติได้ ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยเน้นแก้หนี้ให้ตรงจุดแทนการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มาตรการช่วยเหลือของธนาคารจึงมีหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะอุตสาหกรรมและลักษณะธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย
โดยมีรูปแบบการช่วยเหลือ ดังนี้ 1) การบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดภาระผ่อนชำระต่อเดือน การพักชำระเงินต้น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ 2) การให้เงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง
เช่น การปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี และพักชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี
นายกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ธนาคารจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้ในปัจจุบัน แต่ภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ยังคงเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว
ดังนั้นลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ควรชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ นอกจากนี้ การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งในด้านการหาตลาดใหม่ ๆ และการบริหารต้นทุน ยังคงเป็นเรื่องสำคัญมาก