แนวโน้มกำไร 'บริษัทจดทะเบียน' ในไตรมาส 3
จับตาบริษัทจดทะเบียน กับการประกาศผลกำไรช่วง Q3/63 ที่มีการคาดการณ์ภาพรวมว่าจะฟื้นตัวราว 5-10% แต่จะมีธุรกิจประเภทใดบ้างฟื้นตัว? และธุรกิจประเภทใดที่ยังน่าเป็นห่วงบ้าง? ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน
เข้าสู่ฤดูกาลประกาศงบการเงินอีกครั้งในไตรมาส 3 นี้ คาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ในทิศทางฟื้นตัวในระดับ 5-10% จากไตรมาส 2 แต่ยังคงลดลงแรงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว โดยกลุ่มที่ยังกดดันกำไรสุทธิของตลาดยังคงเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน สนามบิน และโรงแรม ในขณะที่กลุ่มที่กำไรยังเติบโตได้ดียังเป็นกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร กลุ่มไฟแนนซ์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
การประกาศงบเริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ได้มีการทยอยประกาศผลการดำเนินงานออกมากันบ้างแล้ว บางธนาคารผลการดำเนินงานออกมาดีกว่าคาด จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง เนื่องจากได้มีการตั้งสำรองไปล่วงหน้าแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ในภาพรวม กำไรสุทธิของธนาคารยังถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัว และการลดลงของรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
ส่วนกลุ่มไฟแนนซ์คาดจะยังเติบโตได้ในระดับ 2 หลัก YoY จากสินเชื่อที่กลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากหมดช่วง Lock Down ในขณะที่ NPLs เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนบริษัทในกลุ่มบริหารหนี้เสียกำไรก็ยังเติบโตได้ดีทั้งจากการขยายกองหนี้และการติดตามเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก บริษัทจึงมีกำไรเติบโตได้ต่อเนื่อง และเมื่อยิ่งเข้าสู่ช่วงปลายปี จะเป็นช่วงที่สถาบันการเงินจะมีการปล่อยหนี้เสียออกมาค่อนข้างมาก จึงเป็นโอกาสดีของบริษัทเก็บหนี้เหล่านี้ที่จะขยายฐานสินทรัพย์ต่อไป
กลุ่มที่กำไรเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ชัดเจนคือกลุ่มพาณิชย์ เนื่องจากสามารถเริ่มกลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ ยอดขายจากสาขาเดิมเริ่มติดลบน้อยลง แต่ยังติดลบในระดับ 2 หลักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยกลุ่มที่มีผลการดำเนินโดดเด่นกว่าคือกลุ่มที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากดีมานด์ของสินค้าเพิ่มขึ้นหลังมีผู้บริโภคมีการใช้เวลาในที่อยู่อาศัยมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการมีการควบคุมต้นทุนและบริหารมาร์จินได้ดี ส่วนในกลุ่มของผู้ประกอบการค้าปลีก ยอดขายยังไม่กลับมาเท่าเดิมเนื่องจากในหลายๆ สาขายังพึ่งพากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งในไตรมาส 3 อาจเห็นยอดขายแผ่วลงเนื่องจากมีการกักตุนสินค้าไว้ล่วงหน้าแล้วในช่วงไตรมาส 2
สำหรับบริษัทในกลุ่มพลังงาน แม้ในไตรมาส 3 ผลการดำเนินงานจะยังน้อยกว่าในปีที่แล้ว แต่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ค่าการกลั่นดีขึ้นพร้อมกับปริมาณขายเพิ่มขึ้นจากดีมานด์ที่กลับมาหลังการผ่อนคลายมาตรการ Lock Down ส่วนในกลุ่มปิโตรเคมีนั้นกำไรจะยังหดตัวต่อ เนื่องจากส่วนต่างของราคาปิโตรเคมีภัณฑ์แคบลง ทั้ง Aromatics และ PET, PTA อีกทั้ง Utilization Rate ของโรงงานที่ลดลงทำให้อัตราการทำกำไรลดลง โดยกำไรน่าจะเห็นการฟื้นตัวในไตรมาส 4 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขาย
ในส่วนของกลุ่มท่องเที่ยวนั้น คาดการณ์ว่าในไตรมาส 3 น่าจะมีผลขาดทุนรวมกันกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นตัวฉุดกำไรของตลาด แม้ว่าในปลายเดือนนี้จะเริ่มมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Special Tourist VISA : STV) ประมาณ 120 คนจากประเทศจีน และคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 1,200 คนต่อเดือนในเฟสแรก แต่ยังไม่สามารถเทียบได้กับช่วงเวลาปกติที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนประมาณเดือนละ 3 ล้านคน
และหากเฟสแรกประสบความสำเร็จ ในเฟสที่ 2 นั้น จะลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 7 วัน และในเฟสสุดท้าย นักท่องเที่ยวจะไม่ต้องถูกกักตัวหากมีไม่พบเชื้อไวรัสจากการตรวจที่สนามบิน ซึ่งในเฟสนี้น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้ค่อนข้างมาก และเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการในกลุ่ม รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหาร ค้าปลีก หรือบริการ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบไม่กักตัวนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน และคงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิม ทำให้กว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวสูงนั้นอาจต้องรอถึงปี 2021-2022 ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องยอมรับถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ในประเทศ และอาจทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง นักลงทุนจึงควรเตรียมรับมือกับความผันผวนที่มากขึ้นในตลาดหุ้นครับ