‘การทูตวัคซีน’ กลยุทธ์เพิ่มเพื่อนของจีน
ท่ามกลางความขัดแย้งกับสหรัฐทั้งในมิติการเมือง การค้า และธุรกิจ และความขัดแย้งกับหลายประเทศในสหภาพยุโรป(อียู)จนทำให้จีนมีเพื่อนน้อยลงเรื่อยๆ แต่สิ่งที่จีนทำได้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คือการแบ่งปันและให้ความช่วยเหลือ
ประกอบกับจีนต้องการให้ประชาคมโลกเห็นว่า จีนก็มีน้ำใจและรักษาคำมั่นสัญญาที่จะจัดส่งวัคซีน ซึ่งพัฒนาขึ้นภายในประเทศให้แก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“หวัง อี้” มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้ย้ำถึงคำมั่นในเรื่องนี้ช่วงกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่า จีนจะบริจาคและแบ่งปันแลกเปลี่ยนโครงการวัคซีนต้านโควิด-19ขณะปิดฉากการเดินทางทัวร์หลายชาติสมาชิกอาเซียนทั้งกัมพูชา ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งการหารือกับบรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในมณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
การใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสร้างสัมพันธ์ที่ดีทางการทูตของรัฐบาลปักกิ่ง เริ่มขึ้นตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ที่ทำให้ชื่อเสียงของจีนย่ำแย่ลงในสายตาประชาคมโลก และเกิดกระแสคลางแคลงสงสัยเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือต่างๆ
รัฐบาลปักกิ่งต้องการทำให้วัคซีนที่นักวิทยาศาสตร์จีนพัฒนาขึ้นมาเป็นสินค้าของทั่วโลกตามเจตนารมณ์่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ให้คำมั่นแก่ประชาคมโลกว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านนี้เมื่อตอนที่กล่าวปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ก็เน้นย้ำถึงเรื่องความร่วมมือกันทางด้านวัคซีน ระหว่างใช้ความพยายามสมานสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอาเซียนเมื่อเดือนส.ค. จนทำให้มีการคาดการณ์ว่าท่าทีของหลี่น่าจะหมายถึงการบริจาควัคซีนให้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมา
เดือนต.ค.ที่ผ่านมา หวัง อี้ ได้หารือกับผู้แทนของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย และต่อมา หนังสือพิมพ์หมิงเป้าของฮ่องกงและเหลียนเหอ เจ่าเป้าของสิงคโปร์ก็รายงานว่า รัฐบาลปักกิ่งตกลงที่จะให้วัคซีนไม่ต่ำกว่า 100,000 โดส ตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้ แก่อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และมียอดผู้ป่วยโรคโควิด-19สูงที่สุดในภูมิภาค
บทบรรณาธิการล่าสุดของหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ ระบุว่า ความเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลกหมายความว่ารัฐบาลต่างๆ ต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และจีนให้สัญญาแล้วว่า เมื่อผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว วัคซีนนั้นจะเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก แต่สหรัฐก็ยังคงป้ายสีความสำเร็จของจีน
“การสบประมาทหรือความพยายามทำลายความสำเร็จของผู้อื่นเป็นเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์อันใด ไม่มีชาติไหนที่มองว่าตนรอดพ้นจากภัยอันตรายได้หากไร้ซึ่งความร่วมมือ” บทบรรณาธิการระบุ
ที่ผ่านมา จีนได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนหรือกาวี (Gavi, The Vaccine Alliance) ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ต.ค.
ด้าน“ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า 184 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มระหว่างประเทศที่มุ่งรับรองการเข้าถึงวัคซีนโรคโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก