โควิดระบาดหนุนเอเชียแบนบริโภคเนื้อสุนัข
โควิดระบาดหนุนเอเชียแบนบริโภคเนื้อสุนัข โดยกัมพูชาเป็นประเทศที่มีความเปราะบางเรื่องการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากมีประชากรสุนัขจรจัดเป็นส่วนใหญ่
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนในเอเชียบางประเทศที่นิยมบริโภคเนื้อสุนัข เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น จนทำให้มีการห้ามค้าเนื้อสุนัขอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ที่ประกาศห้ามค้าเนื้อสุนัขตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. ซึ่งคำสั่งห้ามนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งผู้ที่ฆ่าสุนัขขาย เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านพิทักษ์สัตว์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่มองว่า คำสั่งห้ามนี้จะช่วยลดโรคพิษสุนัขบ้าในกัมพูชาลงไปได้มาก
ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อปฏิบัติภารกิจระบุแหล่งที่มาของโรคติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน (zoonotic source) ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19
นายแพทย์ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโครงการฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอ บอกว่า สัตว์ที่เป็นแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นอีกหนึ่งคำถามที่สำคัญมาก ผู้เชี่ยวชาญในชุมชนวิทยาศาสตร์ทั้งจากจีนและต่างประเทศจึงกระตือรือร้นที่จะดำเนินการศึกษาอย่างเหมาะสม โดยเขาเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในระดับสูงของคณะผู้เชี่ยวชาญจะช่วยขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้ประสบความสำเร็จ
นายแพทย์ไรอัน ยังระบุด้วยว่า ดับเบิลยูเอชโอได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ 2 คนไปจีนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจดังกล่าว โดยพวกเขาได้ปรึกษาทางไกลร่วมกับเพื่อนร่วมอาชีพชาวจีนที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีน (ซีดีซี) เพื่อสำรวจเบื้องต้นและศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้
ดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า ในส่วนของโรคพิษสุนัขบ้านั้น แม้ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดไปหมดแล้วในชาติตะวันตก แต่ยังคงมีการแพร่ระบาดในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชีย และโรคนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายหมื่นคน ทั้งยังก่อต้นทุนในแต่ละปีประมาณ 8.6 พันล้านดอลลาร์
สัญญาณและอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในระยะเริ่มแรกมีความคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งรวมถึงเป็นไข้ ปวดหัวและความรู้สึกไม่สบายตัวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และอาจรู้สึกแสบร้อนและคันบริเวณที่ถูกกัด
อาการเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ระยะที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกถึงการทำงานของสมองที่ผิดปกติ กระวนกระวาย สับสนและหงุดหงิด เมื่อความรุนแรงของโรคดำเนินต่อไป ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน มีพฤติกรรมที่แปลกไป ประสาทหลอนและนอนไม่หลับ หากผู้ป่วยปรากฎอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมากและแพทย์มักใช้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง จากประวัติทางการแพทย์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้รอดชีวิตหลังจากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วเพียง 10 รายเท่านั้น
ข้อมูลจากสถาบันปาสเตอร์ในกัมพูชา ระบุว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่มีความเปราะบางเรื่องการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีประชากรสุนัขจรจัดเป็นส่วนใหญ่ และมีสุนัขจำนวนมากคิดเป็นสัดส่วนสุนัขหนึ่งตัวต่อพลเมือง5คน และผลศึกษาที่จัดทำโดยสถาบันฯบ่งชี้ว่าเกือบ50% ของสุนัขในกัมพูชาอาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้า และข้อมูลเชิงสถิติที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ในแต่ละปีมีคนถูกสุนัขกัดในกัมพูชามากถึง6 แสนคน
เวโรนิก เชวาเลีย นักระบาดวิทยาจากสถาบันปาสเตอร์ ให้ความเห็นว่า ในกัมพูชาไม่มีระบบบริหารจัดการสุนัข ไม่มีการคุมกำเนิดหรือควบคุมจำนวนประชากรสุนัข
ขณะที่การค้าเนื้อสุนัขในกัมพูชาก็เป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพราะผู้ขังสุนัข พ่อค้า-แม่ค้าและคนฆ่าสุนัขมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะโดนสุนัขกัด นอกจากนี้ บรรดาสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ามักจะเป็นสุนัขที่ถูกนำไปขาย ซึ่งสุนัขเหล่านี้ ดับเบิลยูเอชโอ เรียกร้องให้ผู้คนเลิกบริโภคแม้ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าการบริโภคเนื้อสุนัขเหล่านี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าก็ตาม จังหวัดเสียมราฐ เป็นแหล่งสุนัขในอุตสาหกรรมค้าสุนัขของกัมพูชา โดยโฟว์ พอว์ส ระบุว่า ในแต่ละปีมีการฆ่าสุนัขเพื่อนำไปประกอบอาหารในประเทศนี้ในจำนวนมากถึง 3 ล้านตัวด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นการจับสุนัขตามถนน จากนั้นจึงส่งไปฆ่าที่โรงฆ่าขนาดใหญ่ หรือโรงฆ่าขนาดเล็กของชาวบ้านและจึงส่งสุนัขที่ถูกฆ่าแล้วไปตามร้านอาหารในกรุงพนมเปญ
สถานการณ์ในกัมพูชา ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆในเอเชียที่นิยมรับประทานเนื้อสุนัข ทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้และจีน ที่ถือเป็นผู้บริโภคเนื้อสุนัขรายใหญ่สุดคือแต่ละปีจะมีการฆ่าสุนัขเพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหารในจำนวนมากถึง 20 ล้านตัวด้วยกัน
ที่สำคัญงานวิจัยของโฟว์ พอว์ส ระบุว่า อุตสาหกรรมเนื้อสุนัขนี้เป็นอุตสาหกรมที่ทำกำไรอย่างมหาศาลแก่ผู้เล่นทุกระดับและเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม ซึ่งกลุ่มสนับสนุนให้มีการค้าสุนัข ยอมรับว่า พวกเขาได้แค่ประเมินการบริโภคคร่าวๆเท่านั้น พร้อมให้เหตุผลว่าเป็นเพราะธุรกิจนี้ไม่ถูกกฏหมาย และจำนวนผู้คนที่นิยมรับประทานเนื้อสุนัขก็มีเพียงแค่กลุ่มเล็กๆ โดยในกัมพูชามีประมาณ 12% เวียดนาม 11% อินโดนีเซีย 7% ส่วนในเมืองใหญ่อย่างกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม มีผู้นิยมรับประทานเนื้อสุนัขแค่ 1-2% เท่านั้น
ความต้องการเนื้อสุนัขยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มมองว่าเนื้อสุนัขเป็นเหมือนยาชูกำลัง ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มมองว่า หากได้บริโภคเนื้อสุนัขจะช่วยให้มีโชคยกตัวอย่างกรณีหญิงในกัมพูชาจำนวนมาก เชื่อว่าเนื้อสุนัขช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีโดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนและหลังจากให้กำเนิดบุตร ส่วนในจีนนั้นมีการรับประทานเนื้อสุนัขมาตั้งแต่เกือบ 2,000 ปีก่อน ขณะที่ในเวียดนาม การได้รับประทานเนื้อสุนัขถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งของผู้รับประทาน