คณบดีนิติจุฬา ระบุ ตำรวจใช้กฎหมายต้องคิดถึงความชอบธรรม
คณบดีนิติจุฬา ระบุ ตำรวจใช้กฎหมายต้องคิดถึงความชอบธรรม เลิกใช้วิธีอายัดตัวแต่ต้องให้ศาลเข้ามาตรวจสอบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การจับและคุมขังเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลมากที่สุด จึงต้องระมัดระวังและเคร่งครัดการใช้อย่างที่สุด โดยทั่วไป กรณีที่ผู้ต้องหาต้องคดีและมีหมายจับหลายคดี หากพนักงานสอบสวนทราบว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของตนในคดีอื่นและท้องที่อื่น พนักงานสอบสวนจะขออายัดตัว เพื่อจับผู้ต้องหาตามหมายจับของตนเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวจากท้องที่ที่จับได้ และนำตัวผู้ต้องหานั้นไปดำเนินคดีในท้องที่ตน
การขออายัดตัวและจับผู้ต้องหาตามหมายจับจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ หมายจับยังคงใช้ได้ ซึ่งหมายจับจะใช้ได้จนกว่าผู้ต้องหาจะถูกจับ หรือมีการถอนหมายจับ ในเรื่องการอายัดตัวนี้ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้มีบัญญัติไว้ชัดเจน ทำให้มีความเข้าใจที่แตกต่างกันอยู่ในประเด็นการดำเนินการและผลต่อหมายจับในคดีอื่น
สำหรับความเห็นทางกฎหมายส่วนตัวแล้ว เห็นว่า การที่ผู้ต้องหาถูกจับและควบคุมตัวในคดีอื่น หากพนักงานสอบสวนในอีกคดี ได้ไปแจ้งข้อหาและสอบสวนผู้ต้องหาในสถานที่ที่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนในคดีอื่น ย่อมถือเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาตกอยู่ภายใต้การควบคุมและขาดเสรีภาพที่จะหลบหนีจากรัฐ และได้ปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนั้นแล้ว
"เมื่อเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับ หมายจับย่อมใช้ไม่ได้อีกต่อไปทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการถอนหมายจับ ดังนั้น หากผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหาและสอบสวนในคดีใดไปแล้ว จะอายัดตัวผู้ต้องหาเพิ่อนำตัวไปสอบสวนโดยใช้หมายจับเดิมไม่ได้ ในกรณีดังกล่าว หากพนักงานสอบสวนเห็นว่า การสอบสวนไม่แล้วเสร็จและยังมีเหตุตามกฎหมายที่จะต้องคุมขังผู้ต้องหาเมื่อได้รับการปล่อยตัวในอีกคดีอื่นที่ถูกคุมขังอยู่เดิม สิ่งที่พนักงานสอบสวนพึงกระทำ (แทนการไปอายัดตัวด้วยหมายจับเดิม) คือ การไปยื่นขอหมายจับให้ศาลพิจารณาอีกครั้งว่า หลังจากที่ผู้ต้องหาถูกจับในคดีอื่น และมีการแจ้งข้อหารวมทั้งสอบปากคำแล้ว ยังมีเหตุจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องจับหรือคุมขังผู้ต้องหาอีกหรือไม่"
"การดำเนินการเช่นนี้ จะเป็นการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจตรวจสอบการใช้มาตรการของฝ่ายบริหาร โดยคำนึงทั้งการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา และความจำเป็นของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อย ตามที่พึงจะเป็นในหลักสากล"
"เข้าใจดีกว่า รัฐบาลและตำรวจมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่กฎหมายจะเป็นกลไกสำคัญในการผดุงความยุติธรรมสร้างสันติ และความมั่นคงของสังคม ได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อ การบังคับใช้กฎหมายนั้นกระทำภายใต้หลักนิติธรรม กล่าวคือ จะถูกต้องตามกฎหมาย อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องชอบธรรม และเป็นธรรมด้วย"