‘ซีอีโอ' จับเทรนด์ลงทุน เพิ่มความมั่งคั่งสู้โควิด

‘ซีอีโอ' จับเทรนด์ลงทุน  เพิ่มความมั่งคั่งสู้โควิด

3ซีอีโอ แนะจับกระแสกลยุทธ์การลงทุน สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่ หลังโควิด-19 กระทบแรง แนะใช้ดิจิทัลเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ หวั่นโควิด ระลอกสองทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคภาคการเงินอ่อนแอ กระทบเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้น้อยลง แนะกลยุทธ์ลงทุน ผ่าน "NEXT"

        ภายใต้วิกฤติไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ุใหม่ หรือโควิด-19 เป็นวิกฤติที่เข้ามาสร้างแรงกระเพื่อม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ต่อการเป็นอยู่ การใช้ชีวิตของคนทั่วโลกค่อนข้างมากดังนั้นจะทำอย่างไรให้ “เรา”หรือภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ท่ามกลางที่โควิด-19 ยังอยู่ และรับมือได้ เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไปในอนาคต

        ล่าสุดธนาคารกรุงไทย จัดสัมมนา “Wealth Forum Chapter ll NEXT IS NOW” : จับกระแสกลยุทธ์ สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่ เพื่อเป็นเวทีในการแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยมีCEOชั้นนำมาร่วมเปิดกลยุทธ์และแนวทางฝ่าวิกฤตระยะข้างหน้า

        เริ่มต้นที่ “นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่าผลกระทบจากโควิด-19 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดที่มีผลกระทบมหาศาล ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไม่การันตีว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ในอนาคต

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือกลับมาดูว่า แล้วเราควรต้องปรับตัวอย่างไร ผลกระทบนี้เราเห็นอะไรบ้าง? สิ่งที่เห็นชัดคือโควิด-19เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคชัดเจน คนจ่ายเงินน้อยลง เน้นความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนก้อนใหญ่สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวรองรับทิศทางเหล่านี้ และต้องมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤต โดยใช้ เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค

       “สันติธาร เสถียรไทย”นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารกลุ่มบริษัทSea Limited กล่าวว่า ปัจจุบันคนทั่วโลกมีการเรียนรู้ในการใช้ดิจิทัลมากขึ้นและดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆดังนั้นในอนาคต “ดิจิทัล”จะเป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน เหมือนน้ำดื่ม เพื่อการอยู่รอด จากเดิมที่ดิจิทัล เหมือนอาหารเสริม

       “วันนี้เรามีรอยร้าวอยู่แล้ว ดังนั้นหากเกิดโควิด-19 ระลอกสอง ก็มีโอกาสที่จะล้มลงได้ง่ายๆ ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ หากโควิดมา เราจะเปิดรับท่องเที่ยวอย่างไร การควบคุมจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อสกัดไฟไม่ให้ลาม”

       อีกด้านที่จะเป็นอาฟเตอร์ช็อกสำหรับไทยในระยะข้างหน้าคือ ช็อกจากภาคการเงิน ภายใต้เศรษฐกิจที่ตกต่ำคนตกงานเยอะปัญหาหนี้รายย่อย น่าจับตามากเพราะมีบัญชีที่ขอผ่อนปรนการจ่ายหนี้ถึง10 ล้านบัญชี ซึ่งเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาได้ง่ายๆ แม้เชื่อว่าระบบการเงินจะไม่วิกฤตจากเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ก็เป็นความเสี่ยง ที่ทำให้ภาคการเงิน “บาดเจ็บ”ได้ ซึ่งจะกระทบไปสู่ ความสามารถการปล่อยสินเชื่อในอนาคตลดลง ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น

       ดังนั้นจึงเหมือนคลื่นลูกสอง บน “รอยร้าว” ที่อาจเห็นบริษัทเจ็ง คนตกงานเยอะขึ้น และการฟื้นตัวได้ไม่แข็งแกร่งไม่เต็มศักยภาพในอนาคตมากขึ้น

      “พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะติดลบราว 8.8% แต่หากเกิดโควิด-19 ระลอกสอง มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยติดลบไปถึง 12% ได้ในปีนี้ ดังนั้นวิกฤตครั้งนี้ถือว่าใหญ่มาก หากนับจากวิกฤติปี40 ภายใต้รอยร้าว ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นคาดทรัพยากรแบงก์จะลดลงมากหากจบโควิด-19 ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนข้างหน้าไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะไร้หนทางเพื่อเดินไปสู่ความมั่งคั่ง

     ดังนั้น Krungthai COMPASS แนะนำการลงทุนผ่านกลยุทธ์ “NEXT” โดย N คือ Newnormal แนะนำลงทุนในธุรกิจที่ได้ประโยชน์นิวนอร์มอล อย่างชอปปิงออนไลน์

     ขณะที่ E คือ Equity ที่ควรมีการลงทุนในหุ้นไว้ ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นมองว่าหากถือหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาวเกิน 10ปี ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนเกิน 10% ดังนั้นวิกฤตินี้เราทิ้งหุ้นไม่ได้

     ถัดมาคือ X หรือ External การมองหาการลงทุนภายนอกประเทศ เพราะจากวิกฤตโควิด สะท้อนให้เห็นชัดเจน ว่า บริษัทที่อยู่รอด และเติบโตได้ เช่นบริษัทอีคอมเมิร์ธที่อยู่ในต่างประเทศ

      และ T หรือ Technology ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในยุคโควิด ดังนั้นต้องเลือกธุรกิจที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนมากขึ้น

      และการลงทุนก่อนวัคซีน โควิด-19 จะมา สิ่งสำคัญต้องเน้นคุณภาพ เลือกบริษัทใหญ่ ที่งบดุลแข็งแรง และเป็นผู้นำที่สุดในธุรกิจนั้นๆ ควบคู่ไปกับการลงทุนในพันธบัตร ที่มีสภาพคล่องสูง

     และสิ่งที่ต้องระวังเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย ภายใต้เงินมหาศาลที่ธนาคารใส่เข้ามาในช่วงโควิด-19 ดังนั้นอาจทำให้เกิดวิกฤต Inflation หรือภาวะเงินเฟื้อ ดังนั้นควรลดการถือบอนด์ลง เมื่อดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น