ทำไม 'ไทย' ควรชะลอตัวร่วมหุ้น 'CPTPP'
ไขปม ทำไมไทยควรชะลอร่วมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก "CPTPP"? แล้วโอกาสของไทยจากการเข้าร่วมครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ปัจจุบันก็มีการทำการค้ากับบางประเทศในกลุ่มนี้อยู่แล้ว
เวที TSRI Forum ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. จัดร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ถกประเด็นสาธารณะ “CPTPP : โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย” ไทยจะได้หรือเสียหากเข้าร่วม CPTPP? เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีให้เกิดการนำข้อมูลวิชาการประเด็นปัญหาสาธารณะ “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership : CPTPP)” ไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาของสถาบันนิติบัญญัติ
เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า หากประเทศไทยเราเข้าร่วมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CPTPP ดังกล่าว จะส่งผลกระทบหรือได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล
รัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยข้อมูลประเด็นสถานะของประเทศไทยในการตัดสินใจที่จะเข้าหรือไม่เข้าร่วม CPTTP ว่า “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมประเด็นการค้า บริการและการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานกฎระเบียบร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ทั้งในประเด็นความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
แต่เดิมความตกลงนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2549 มีชื่อเดิมว่า TPP หรือ Trans-Pacific Partnership มีประเทศสมาชิกรวม 12 ประเทศ จนกระทั่งในปี 2560 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจให้สหรัฐประกาศถอนตัวออกจาก TPP กลุ่มประเทศที่เหลืออยู่นี้จึงตัดสินใจเดินหน้าข้อตกลงใหม่ในชื่อ CPTPP ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
ปัจจุบันประเทศไทยมี “ข้อตกลงทางการค้าเสรี” หรือ FTA (Free Trade Area) ที่บังคับใช้อยู่จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีข้อตกลงที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการอีกประมาณ 4-5 ฉบับ ประเทศที่รุกด้านการพัฒนาจนเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดอย่าง “สิงคโปร์” มี FTA กับประเทศต่างๆ มากถึง 65 ประเทศ ซึ่งการค้ากว่าร้อยละ 94 เติบโตจากการมี FTA ในขณะที่ประเทศไทยมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางการค้าร้อยละ 62 และเวียดนามร้อยละ 70 โดยที่เวียดนามทำ FTA กับกว่า 53 ประเทศ
หากพิจารณาในประเด็นเซ็กเตอร์ทางการตลาดของ CPTTP จะพบว่ามีขนาดของตลาดร้อยละ 6.7 ของประชากรโลกจำนวน 500 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มกำลังซื้อสูง ปัจจุบันประเทศไทยทำการค้าอยู่แล้วกับประเทศในกลุ่ม CPTPP บางประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของที่เราทำการค้าทั้งหมด
ในส่วนของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CPTPP เป็นการกำหนดข้อตกลงที่มีรายละเอียดลึกกว่าข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือเอฟทีเอทั่วไป เพราะจะมีการพิจารณาการค้ามากกว่าสินค้าทั่วไป อาทิ ภาพยนตร์ เพลง ซอฟต์แวร์ การคุ้มครองพันธุ์พืช การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น
ปัจจุบัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดให้มีการทำวิจัยประเมินโอกาส ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นหากไทยเข้าร่วม CPTTP ไว้แล้ว แต่เมื่อมีช่วงการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทีมวิจัยจึงต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับในส่วนของสถาบันนิติบัญญัติ ฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อร่วมหารือกันในประเด็นดังกล่าว แต่ยังอยู่ในส่วนของกระบวนการหารือ
นอกจากนี้จากการเปิดเผยข้อมูลของ รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กลุ่มผู้ที่อยากให้ไทยเข้าร่วม CPTPP มองว่าที่ผ่านมาในปี 2562 ไทยมีการค้ากับสมาชิก CPTPP คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้าไทยกับโลก การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเพิ่มการค้า การขยายตลาดส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเมื่อเกิดโควิด
อีกทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบต้นทุนต่ำจากประเทศสมาชิกมาต่อยอดผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวแข่งขันกับสินค้าและบริการจากประเทศ CPTPP ด้วย ซึ่งไทยอาจเสียเปรียบเวียดนามและสิงคโปร์
จากการประมวลผลข้อมูลพบว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้มากนัก เนื่องจากปัจจุบันเราก็ทำการค้ากับประเทศในกลุ่ม CPTTP จำนวน 9 ประเทศอยู่แล้ว หากเข้าร่วม CPTTP จะได้เปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้นอีกเพียง 2 ประเทศ (แคนาดาและเม็กซิโก) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเจอแรงกดดันให้เปิดตลาดเพิ่มขึ้นจากประเทศสมาชิก CPTPP ที่ไทยเคยมี FTA ด้วยอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน CPTPP ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ในสถานการณ์โควิด
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าการเข้า CPTTP เสี่ยงไปสำหรับประเทศไทยในตอนนี้ หลังจากเกิดโควิดผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่รายย่อยยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยังพยุงตัวเองไม่ได้ หากเข้าร่วมก็จะทำให้คู่แข่งขันทางการค้ามากขึ้น ถ้าผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เขาปิดกิจการเร็วขึ้น จากที่บางรายอาจพยุงสถานการณ์อยู่โดยใช้ทุนสะสมเดิมรักษาธุรกิจ จึงมีข้อเสนอแนะกับฝั่งภาคผู้กำหนดนโยบายว่า การตัดสินใจครั้งนี้ควรเป็นไปด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงผู้มีส่วนใดส่วนเสียทุกภาคส่วน การตัดสินใจต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ