'สงครามราคา' สถานการณ์ที่ 'ชาวนา' ต้องปรับตัว
ช่วงเวลาเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา "สงครามราคา" ข้าวเปลือกของไทยปรับตัวลดลงอย่างน่าตกใจ เฉลี่ยราคาลดลงไปเกือบตันละ 1,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า ขณะที่ข้าวหอมมะลิ พบว่าราคาลดลงเกือบตันละ 5,000 บาท สถานการณ์ราคาดิ่งเหวอย่างนี้ "ชาวนา" ต้องการคำอธิบาย
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตกต่ำว่า สถานการณ์ราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตกต่ำลงเหลือตันละ 10,000 บาท จากที่ปีที่แล้วที่ราคาตันละ 17,000 -18,000 บาท โดยราคาดังกล่าว มองว่าเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งอย่านำราคาไปเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ราคาไม่ปกติ เพราะในช่วงเวลานั้นราคาที่สูงขึ้นมาจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อยส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ปีนี้คาดการณ์ว่า จะมีปัญหาภัยแล้ง ราคาข้าวจึงสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เนื่องจากปีนี้มีพายุเข้ามา 2-3 ลูก ทำให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น ชาวนาก็ปลูกข้าวและมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดก็ทำให้ราคาปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ราคาส่งออกลดลงจากตันละ 1,000 ดอลลาร์ เหลือ 800 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาข้าวขาว จากตันละ 500 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 495 ดอลลาร์ต่อตัน
“ราคาข้าวปีนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บวกกับเงินบาทแข็งค่า จึงทำให้ปีนี้คาดว่าการส่งออกจะตกลงไปประมาณ 30 %“
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และสต็อกข้าวที่เหลืออยู่จากการส่งออกที่น้อยลง ทำให้โรงสีหลายโรงที่มีสต็อกข้าวเหลืออยู่ก็เริ่มมีการปล่อยข้าวออกมา เพื่อลดสภาวะขาดทุนเนื่องจากซื้อมาแพง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาลดลง ทำให้ต้องยอมขาดทุนไป 30-40 %
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันในด้านการส่งออก การที่ราคาปรับลงอาจส่งผลดีให้การส่งออกเพิ่มปริมาณมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคาข้าวของไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อก็หันไปซื้อข้าวประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า
"นอกจากนี้ข้าวไทยยังไม่มีความหลากหลายของพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ตรงความต้องการของตลาด จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดน้อยลง ซึ่งจำเป็นที่ไทยจะต้องหันมาพัฒนาข้าวให้ตรงความต้องการของตลาดเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยกลับมา"
ข้อมูลจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยแพร่ราคาแนะนำข้าวเปลือกความชื้น 15%เปรียบเทียบ ต.ค. ปี 2563 กับ พ.ย. ปีเดียวกัน และราคาพ.ย. ปี 2562
*ราคา ณ 2 ต.ค. 2563-----------------------------เทียบ พ.ย. 2563
-ข้าวเปลือกเจ้า(อยุธยา) ตันละ 9,300-9,400บาท ---------ตันละ8,700-8,800 บาท
-ข้าวเปลือกหอมมะลิ(อุบลราชธานี) ตันละ 13,500-14,500----ตันละ 9,500-9,000บาท
*ราคา ณ 6 พ.ย. 2562
-ข้าวเปลือกเจ้า (อยุธยา)ตันละ 7,700 บาท
-ข้าวเปลือกหอมมะลิ(อุบลราชธานี) ตันละ 12,900-13,500 บาท
จากความผันผวนของราคาข้าว ที่กำลังสะท้อนว่า“ราคา”กำลังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการกำหนดอนาคตชาวนา ในแง่มุมของรายได้ที่พร้อมผันผวนตามสถานการณ์ราคา ในแง่มุมของพ่อค้า ราคาที่ผันผวนคือสงครามที่ต้องต่อสู้ทั้งต่อคู่แข่งและกับตัวเอง เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด แต่สถานะสินค้าข้าวของไทยไม่ใช่แค่อาชีพ แต่หมายถึงความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สถานการณ์สงครามราคานี้ต้องได้รับการจัดการ
ระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย ในฐานะรองประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่าราคาข้าวที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งเป็นไซเคิลของทุกปีที่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวออกสู่ตลาดพร้อมๆกันราคาข้าวจะตกต่ำเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วราคาข้าวของไทยในระดับราคากลางที่ตันละ8,700 บาท ข้าวหอมปทุมธานี 1 อยู่ตันละ9,000 บาท นั้นถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
ในขณะที่รัฐบาลประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรไม่เดือดร้อนเรื่องราคาขาย โดยในปีนี้ การประกันรายได้รัฐต้องจ่ายเพิ่ม ประมาณตันละ 1,000 บาทถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลจ่ายถึงตันละกว่า 2,000 บาท
อย่างไรก็ตามผลผลิตข้าวของไทยในปีนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น แม้จะเกิดภัยแล้งและฝนตกทิ้งช่วงในต้นฤดูกาลเพาะปลูก แต่ไม่มีพื้นที่เสียหาย และข้าวส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ทัน
ขณะเดียวกันที่เกิดโรคโควิดระบาด ทำให้การส่งออกชะลอตัว ประกอบกับราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบราคาของประเทศผู้ผลิตรายอื่น ทำให้ผู้ซื้อในตลาดบนหันไปซื้อข้าวชนิดเดียวกันแต่ราคาต่ำกว่าเช่นเดียวกันตลาดบนที่ว่านี้ก็มีอัตราการขยายตัวต่ำมาก
“ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงเก็บเกี่ยวนั้นเกิดขึ้นทุกปี ในอดีตชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางจะใช้วิธีฝากข้าวไว้กับโรงสี ซึ่งโรงสีก็บริหารจัดการข้าวดังกล่าวแทนชาวนา ทำให้ไม่มีข้าวเสียหาย แต่ปัจจุบันระบบนี้เลิกไปแล้ว ชาวนาไม่มียุ้งต้องขายข้าวสด ในขณะที่โรงสีไม่ซื้อข้าวสต็อกเพราะต้องเสียดอกเบี้ยแพง ดังนั้นจึงเป็นอีกสาเหตุที่กดรับซื้อข้าวจากชาวนาได้ “
ทั้งนี้ ชาวนาต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่นการใช้ปุ๋ยให้น้อยลง ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ เป็นต้น เพื่อให้ข้าวของไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ในอดีตชาวนารุ่นปู่ย่า ต่อต้านการใช้เครื่องจักร เพราะทำให้ต้นทุนสูง ต่อมาชาวนารุ่นพ่อแม่ เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรและหันมาใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ดินเสื่อมและคุณภาพข้าวลดลง จึงเป็นหน้าที่ของชาวนารุ่นดิจิทัลต้องพัฒนาใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยทั้งเรื่องพันธุ์ และการลดการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม จึงจะทำให้ข้าวของไทยสู้กับผู้ผลิตรายอื่นได้