ทำความรู้จัก โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย 'เฉลิมรัชมงคล'
ทำความรู้จัก โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน)
โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย เป็นโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินเดิม) ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง และสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมีความต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการในปี 2554 เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับผสมแบบใต้ดิน ระยะทางรวมประมาณ 28 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
• ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร รวม 11 สถานี ประกอบด้วย โครงสร้างทางวิ่งแบบใต้ดิน ลักษณะเป็นทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับ ลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน ในช่วงท่าพระ – บางแค ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี
โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจาก สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินเดิม)ฯ เป็นเส้นทางใต้ดินลอดตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับเข้าสู่สี่แยก ท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามแนวถนนเพชรเกษม สิ้นสุดปลายทางที่ถนนกาญจนาภิเษก
• ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร รวม 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมด ลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินเดิมฯ) ผ่านแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย ฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค
รูปแบบสถานีรถไฟฟ้าของโครงการ มีโครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นระดับถนน (Ground Level) เป็นทางเข้า – ออก ของสถานี ชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse level) ภายในประกอบด้วยห้องออกบัตรโดยสาร เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติ และสามารถใช้เป็นทางเดินเชื่อมต่อไปยังอาคารข้างเคียงและอาคารจอดแล้วจรของโครงการได้ ชั้นชานชาลา (Platform Level) สำหรับขบวนรถไฟฟ้าจอดรับ – ส่งผู้โดยสาร ซึ่งในโครงการมีทั้งรูปแบบชานชาลากลาง สำหรับผู้โดยสารทั้งสองฝั่งใช้ชานชาลาร่วมกัน รูปแบบชานชาลาข้าง แยกผู้โดยสารเป็น 2 ฝั่งของแนวรถไฟฟ้า และรูปแบบชานชาลาซ้อน แบ่งชานชาลาเป็น 2 ชั้น ในสถานีที่มีพื้นที่ก่อสร้างจำกัด โดยทุกสถานีจะติดตั้งประตูกระจกอัตโนมัติกั้น ที่ชานชาลาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารพลัดตกรางในระหว่างรอรถไฟฟ้า รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานีรถไฟฟ้าครบครัน เช่น บันไดเลื่อน ลิฟต์โดยสาร ทางลาด ห้องน้ำ ฯลฯ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้โดยสารทุกประเภท
นอกจากนี้ โครงการมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง จำนวน 2 อาคาร แบ่งเป็นอาคารจอดรถ 10 ชั้น (ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าท่าพระ) รองรับรถยนต์ได้ 650 คัน และอาคารจอดรถ 8 ชั้น (ฝั่งขาออก มุ่งหน้าพุทธมณฑล สาย 4) รองรับรถยนต์ได้ 350 คัน เพื่อให้ผู้โดยสารนำรถยนต์มาจอดและเดินทางต่อด้วยระบบรถไฟฟ้าได้โดยสะดวก รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า 1 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าเพชรเกษม 48 ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ กลุ่มอาคารซ่อมบำรุง สำนักงานบริหารและจัดการ โรงจอดรถไฟฟ้าและรางทดสอบ
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย รฟม. ได้นำองค์ความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ และธรณีวิทยา รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล เข้ามาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้าง อาทิ การใช้เทคโนโลยีนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร อยู่ลึกจากระดับผิวน้ำ 30 เมตร (ลึกจากใต้ท้องแม่น้ำ 7 เมตร) และถือเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย การใช้โครงสร้างอุโมงค์แบบ Pipe Roof แทนการใช้วิธี ขุดเจาะแบบเปิดผิวถนน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างก่อสร้าง และเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากแนวเส้นทางและตำแหน่งที่ตั้งสถานีของโครงการอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ รฟม. ยังได้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้กลมกลืนกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าวัดมังกร สถานีรถไฟฟ้าสามยอด สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย และสถานีรถไฟฟ้าอิสรภาพ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าไว้ จนได้รับการชื่นชมว่า เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยที่สุดของประเทศไทย จากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงที่ 1 สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ – สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน ได้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ช่วงที่ 2 สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง – สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 และช่วงที่ 3 สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน – สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามลำดับ ทำให้โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมรองรับการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานคร และยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงการทางเดินสู่ปริมณฑลได้โดยสะดวก
ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมของประเทศ รฟม. จะยังคงมุ่งมั่นสานต่อการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่าย ขยายการเดินทางได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ส่งมอบการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้แก่ประชาชน และยังเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรด้วยการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลพิษทางอากาศจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดความแออัดของเมืองด้วยการขยายความเจริญ ออกจากศูนย์กลาง อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนช่วยส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ