เอ็กซิมแบงก์ชี้ยอดเคลมประกันส่งออกพุ่ง200ล.
เอ็กซิมแบงก์เผยยอดเคลมประกันส่งออกไตรมาส 3 พุ่งกว่า 200 ล้านบาท เหตุผลกระทบจากโควิด-19 ทำลูกค้าในต่างประเทศชำระเงินล่าช้า ชี้ยอดเคลมจะสูงสุดในสิ้นปีนี้
นายพิสิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความยืดเยื้อ ทำให้ลูกค้าของธนาคารยังได้รับผลกระทบจากการชำระเงินที่ล่าช้าของคู่ค้าจากประเทศต่างๆ สะท้อนจากยอดเคลมประกันการชำระเงินที่เรียกเก็บกับธนาคารนั้น ทยอยเพิ่มสูงขึ้นนับจากช่วงที่เกิดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน โดย ณ ไตรมาสสามของปีนี้ มียอดเคลมสูงถึง 75% คิดเป็นวงเงินกว่า 200 ล้านบาท และคาดว่า ยอดเคลมจะสูงสุดในช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการเคลมประกันการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กๆนั้น ส่วนใหญ่จะไม่มีการทำประกัน เนื่องจาก มองว่า เป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น ทำให้มีลูกค้ารายเล็กบางส่วนได้รับผลกระทบจากการชำระเงินล่าช้า
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยพักชำระหนี้ให้จนถึงสิ้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และ ได้ขยายระยะเวลาสำหรับในรายที่ยังไม่พร้อมสำหรับการชำระหนี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง หรือสูงสุดไม่เกิน 2 ปี
ทั้งนี้ ในจำนวนลูกค้าที่อยู่ในมาตรการพักชำระหนี้นั้น จะมีส่วนหนึ่งหรือราว 10% ของมูลหนี้ที่พักหนี้รวม 5 หมื่นล้านบาทที่ประเมินว่า จะมีความสามารถชำระหนี้ได้ไม่ดีนัก และ ในจำนวนดังกล่าว มีอยู่ราว 5% หรือราว 2.5 พันล้านบาท ที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ สำหรับหนี้เสียของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5%ของสินเชื่อคงค้างประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
ส่วนการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ คาดว่า จะขยายตัวราว 5% ส่วนปีหน้าตั้งเป้าขยายสินเชื่อมากกว่า 5% โดยประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และ การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 4% ประกอบกับ ผู้ส่งออกของไทยมีโอกาสที่จะส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ที่น้อยกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV
ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนที่จะเปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายตัวของการส่งออก โดยปลายปีนี้ จะเปิดตัวที่เวียดนาม และ มีแผนจะเปิดในประเทศอินเดียในระยะต่อไปด้วย สำหรับสาขาในต่างประเทศที่เปิดทำการแล้ว อาทิ ลาว พม่า กัมพูชา โดยที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อที่ให้บริการผ่านสาขาในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตในระดับที่ดี โดยมียอดสินเชื่อคงค้างราว 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 20-30% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
เขายังกล่าวถึงผลประกอบการของธนาคารด้วยว่า ในปีนี้ ผลกำไรน่าจะติดลบ สาเหตุสำคัญจะมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐานบัญชีใหม่ราว 6 พันล้านบาท