มาตรการกักตัวแบบ10วัน(+4) ประเทศเสี่ยงโควิดสูงหมดสิทธิ์

มาตรการกักตัวแบบ10วัน(+4)  ประเทศเสี่ยงโควิดสูงหมดสิทธิ์

หากแม้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)มีการพิจารณาประเด็น “ลดวันกักตัวแบบ10+4”ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำและผ่านความเห็นชอบ มิใช่ว่าการดำเนินจะหยุดอยู่แค่เข้ามากักตัว 10 วันแล้วจบ

แต่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ระบุว่ามีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในช่วงการกักตัวและหลังครบกำหนด 4 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอย่างครบถ้วน
    
แน่นอนว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ทั่วโลก ยังไม่มีประเทศใดที่มั่นใจได้ 100 %ถึงความปลอดภัย ขณะเดียวกันไม่ใช่ทุกประเทศจะมีความเสี่ยงกับโรคนี้ในระดับที่เท่ากัน เห็นได้จากบางประเทศไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันนานนับ 100 วันหรือมากกว่า 3 เดือน แต่บางประเทศยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่าวันละ 1 แสนราย บวกกับข้อมูลอัตราการติดเชื้อของผู้ที่เดินทางจากประเทศต้นทางและเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันของไทยมีความแตกต่างกัน  
        ยกตัวอย่าง  ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ย.2563 ประเทศจีนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด มีการเดินทางเข้าประเทศไทยและอยู่ในสถานที่กักกัน จำนวน 5,459 คน พบติดเชื้อ 1 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.02ราย ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก เดินทางเข้า 11,943 คน ติดเชื้อ 82 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.69 ราย หรือประเทศคูเวต เดินทางเข้า  293 คน ติดเชื้อ  58 ราย อัตราการติดเชื้อ 19.80 ราย ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การพบเชื้อที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศต้นทางที่มีคนเดินทางเข้าประเทศไทย 

160562479743
        นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ถ้ามีคนเดินทางเข้าไทย
1 ล้านคน จากเดิมกักตัว 14 วัน จะมีคนติดเชื้อที่หลุดคัดกรองได้ 0.3 คน เมื่อลดกักตัวในประเทศเสี่ยงต่ำเหลือ 10 วัน จะหลุด 1.5 คน แต่บางประเทศน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงแต่ละประเทศเสี่ยง ดังนั้น สมมติมีคนเดินทางเข้าไทยปีละราว 30 ล้านคน ก็น่าจะมีคนติดเชื้อหลุดคัดกรองราว 300 คนต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบบการป้องกันและควบคุมโรคในการจับตัว หรือตะครุบเพื่อควบคุมสถานการณ์ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากในจำนวนนี้ป่วยหนัก 10 % อยู่ที่ 30 คน ระบบโรงพยาบาลของประเทศไทยสามารถรองรับได้
       “ประเทศที่มีความเสี่ยงโควิด-19น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับไทย โดยหลักการคนที่มาจากประเทศนั้น เมื่อเข้ามาก็เหมือนคนไทยที่อยู่ในประเทศเป็นลักษณะ ประเทศsafety to safety หากศบค.เห็นชอบก็จะเริ่มดำเนินการเพื่อประเมินผลเป็นเวลา 3 เดือน หากมีคนติดเชื้อหลุดรอดจากการคัดกรองสัปดาห์ละ 2 รายถือว่าอยู่ในระดับที่ระบบรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นจะต้องมีการปรับแผนใหม่ หรือหากน้อยกว่านั้นก็อาจจะขยับลดวันกักตัวลงเหลือ 7 วันในกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่อไป”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

      ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การที่สธ.มีข้อเสนอทางวิชาการให้ศบค.พิจารณามาตรการลดระยะวันกักตัว 10+4 เนื่องจากเหตุผลประกอบด้วย  คือ ข้อมูลล่าสุดพบว่าระยะกักตัว 10 วันและ14วันความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมด ตรวจพบเชื้อภายใน 10 วัน น้อยรายพบหลัง10วันแต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาหาร  ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำกว่าผู้ที่มีอาการ  นอกจากนี้  มีการเติมมาตรการต่างๆเพิ่มขึ้นทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างการกักตัว และหลังครบระยะกักตัว ที่สำคัญ เป็นการเริ่มดำเนินการในประเทศที่มีสถานการณ์โควิด-19ในระดับความเสี่ยงที่น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น ไต้หวัน เวียดนาม จีน มาเก๊า เป็นต้น ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศไทย ยังคงการกักตัวที่ 14 วันเช่นเดิม

160562481858
      มาตรการก่อนเดินทาง  ต้องลงทะเบียนที่สถานทูตไทย ณ ประเทศนั้นๆ พร้อมยื่นใบรับรองผลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ไม่พบโควิด-19 ที่ไม่เกิน 72 ชั่วโมงซึ่งจะลดความเสี่ยงประมาณ 50 % ใบจองที่พักซึ่งเป็นสถานที่กักกันโรคทางเลือก (ASQ) และกรณีเป็นต่างชาติต้องมีประกันสุขภาพวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 3 ล้านบาท
       ระหว่างการกักตัว มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานเพิ่มเติม จากเดิม 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง  ในวันที่ 0 ,5,9  เจาะเลือดตรวจแอนบอดี้ 2 ครั้งซึ่งจะช่วยแนกว่าเป็นการติดเชื้อรายเก่าหรือรายใหม่ หากตรวจพบติดเชื้อ จะถูกส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และแพทย์จะดูแลรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ จนผู้ป่วยหายดีเป็นปกติ ไม่แพร่เชื้อ และหลังครบกักตัว 10 วัน โดยเฉพาะในช่วง 4 วันแรกนั้น ยังมีมาตรการในการติดตามตัวเป็นสายรัดข้อมือและเข้าระบบการติดตาม เพื่อรายงานอาการทุกวัน และกำชับมาตราการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล