อดีตบอร์ดธปท. ชี้มาตรการดูแลบาทไร้ผล
"อนุสรณ์" อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ ชี้มาตรการธปท. ดูแลค่า "เงินบาท" ไร้ผลสกัดเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.63 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยา ลัยรังสิต กล่าวถึง สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าและมาตรการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า มาตรการสกัดการแข็งค่า "เงินบาท" ด้วยการผ่อนคลาย และเปิดเสรีการไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติม เป็นมาตรการที่มีความเหมาะสม แต่ไม่มีผลในระยะสั้น เป็นเพียงส่งสัญญาณว่าแบงก์ชาติห่วงใยต่อสถานการณ์ "เงินบาท" แข็งค่ามากและเร็วเกินไป มาตรการเหล่านี้จะส่งผลต่อการชะลอตัวการแข็งค่าของเงินบาทได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อเปิดเสรีการไหลออกของเงินทุนมากขึ้นดังกล่าว อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเก็งกำไรที่เคลื่อนย้ายมายังภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสหนึ่งปีหน้า ขณะนี้และในระยะต่อไป นักลงทุนต่างชาติและกองทุนต่างๆยังโยกเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดพันธบัตรระยะสั้นและไม่มีประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ทำ Open position เอาไว้ ตรงนี้สะท้อนว่า นักลงทุนสถาบันเหล่านี้และนักเก็งกำไรยังคงคาดการณ์ว่า เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังสูงกว่าหลายประเทศ
นายอนุสรณ์ ยัง ประเมิน 3 มาตรการแบงก์ชาติสกัดเงินบาทแข็งค่าในรายละเอียดว่า มาตรการแรก ให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศและโอนเงินระหว่างบัญชี FCD มาตรการที่สอง เพิ่มวงเงินสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ และเปิดให้นำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน มาตรการที่สาม ให้นักลงทุนต่างชาติแสดงตัวก่อนการซื้อขายตราสารหนี้
ทั้งสามมาตรการยังเป็นมาตรการที่อยู่ในกรอบหรือทิศทางการเปิดเสรีทางการเงินอยู่แล้ว และ มีความจำเป็นที่ “ทางการ” ต้องติดตามตรวจสอบธุรกรรมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเก็งกำไรที่มีมากกว่าปรกติด้วย ทั้งสามมาตรการจะมีผลต่อการสกัดกั้นการแข็งค่าเงินบาทได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากโอกาสที่เงินจะไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศมีไม่มาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องสถานะทางการเงินโดยรวมของบุคคลและนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่ทำให้ คนไทยและผู้ประกอบการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้เงินสกุลต่างประเทศได้คล่องตัวขึ้น และน่าจะทำให้ “ทางการ” สามารถติดตามธุรกรรมที่ผิดปรกติได้ง่ายขึ้นบ้าง
หากไม่มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม มีโอกาสมากขึ้นที่ปลายปีหรือไตรมาสแรกปีหน้า เงินบาทอาจจะหลุดระดับ 30 อาจจะได้เห็นเงินบาทที่ระดับ 28 -29 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยที่อาจจำเป็นต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดการเงินโลก หากพิจารณาแทรกแซงตลาดเงินบาทด้วยมาตรการการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน Open Market Operation (OMO) ซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาทเข้ามาในระบบ หากจะใช้ Open Market Operation ต้องไม่ดูดซับเงินบาทกลับจะมีประสิทธิผลมากกว่าในการทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่การใช้ มาตรการ Open Market Operation จะเพิ่มการขาดทุนทางบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอีกจากที่ขาดทุนสะสมอยู่แล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท ภาวะการขาดทุนของธนาคารกลางไม่ใช่ปัญหาตราบเท่าที่ผลการขาดทุนไม่ได้กระทบศักยภาพในการปฏิบัติงานตามพันธกิจโดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน และตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางอยู่
อย่างไรก็ตาม การใช้ OMO ต้องทำอย่างสมดุลและอย่างเท่าทันต่อตลาดการเงินโลก เพื่อไม่ให้สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่า ไทยบิดเบือนค่าเงินเพื่อเอาเปรียบทางการค้า (Currency manipulator for unfair trade) ซึ่งปัจจุบัน “ไทย” เข้าเกณฑ์ทั้งสามข้อของการบิดเบือนค่าเงินที่สหรัฐฯสามารถตอบโต้ทางการค้าได้อยู่แล้ว ทั้งเกินดุลการค้าสหรัฐฯมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (12 เดือนที่ผ่านมาไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯประมาณ 22,371 ล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน 3% ของ GDP (ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 7% เมื่อปีที่แล้ว) รวมทั้ง ไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2% ของ GDP
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นของนักลงทุนต่างชาตินั้นเป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นแต่ต้องกำกับดูแล นอกจากนี้ ผู้ค้าทองคำในไทยขายทองคำในรูปดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณาออกเกณฑ์ให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในตลาดพันธบัตรต้องทำประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดธุรกรรมเก็งกำไรบางส่วนลง ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินระยะสั้นไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณ 40,000 ล้านบาท หลังแบงก์ชาติออกมาตรการสกัดการ "แข็งค่าเงินบาท" นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยประมาณ 8,000 กว่าล้านบาท หลังจากนั้นวันเดียวก็กลับมาซื้อสุทธิอีก
ข้อเสนอใช้นโยบายการเงิน Yield Curve Control (YCC) กระตุ้นภาคการลงทุนพร้อมนโยบายดอกเบี้ย 0% เป็นทางเลือกที่ควรนำไปพิจารณาดู YCC จะช่วยทำให้มาตรการคลังเพื่อกระตุ้นบริโภคทำงานได้ดีขึ้น ข้อเสนอในการใช้นโยบายการเงิน Yield Curve Control (YCC) โดยแบงก์ชาติต้องกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาว จากนั้นจะเข้าทำการซื้อหรือขายพันธบัตรเพื่อรักษาเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ การใช้มาตรการ YCC ดังกล่าวจะทำให้ แบงก์ชาติลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน และลดการขาดทุนทางบัญชีได้ระดับหนึ่งเมื่อต้องเข้าไปบริหารจัดการการแข็งค่าของ "เงินบาท" อีกในอนาคต
ขอเสนอให้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายพันธบัตรระยะกลางอายุ 3-4 ปีที่ไม่เกิน 0.75% และ อายุ 7 ปีถึง 10 ปี ไม่เกิน 1.4% ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 1-2 ปีควรปรับลงมาไม่ให้เกิน 0.50% ต้นทุนทางการเงินสินเชื่อระยะ 3 ปีถึง 10 ปีของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะลดต่ำลง โดยเฉพาะต้นทุนเงินกู้ซื้อบ้านและรถยนต์จะลดลง ส่งผลกระตุ้นเชิงบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งยังคงหดตัว การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนซบเซาให้กระเตื้องขึ้นได้ระดับหนึ่ง และจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงาน
นอกจากนี้ YCC ควรจะส่งผลให้ราคาทรัพย์สินทางการเงินโดยเฉพาะราคาหุ้น "ค่าเงินบาท" ปรับไปในทิศทางที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยราคาหุ้นน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเกิดผลบวกต่อความมั่งคั่ง (Wealth Effect) ไปกระตุ้นภาคการบริโภคและภาคการลงทุนอีกทอดหนึ่ง ผลของการทำ YCC ที่มีประสิทธิภาพควรทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงกระตุ้นการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเงินฝืดและมีเงินเฟ้อติดลบอยู่ และมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก หากธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจจะทำ YCC ขอแนะนำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้ 0% หรือ 0% เสียก่อน
การที่เราปล่อยให้ "เงินบาท" แข็งค่าเร็วและแรงในช่วงที่ผ่านมาย่อมส่งผลหักล้างมาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และตลาดแรงงาน หากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง หรือวิกฤติทางการเมืองในประเทศแล้วทำให้เงินไหลออก หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯเพิ่มขึ้น หรือ อุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นในการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การใช้ (Yield Curve Control) YCC สื่อสารการผ่อนคลายนโยบายการเงินควบคู่กันอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอาจมีความจำเป็น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีข้อจำกัดในการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในตลาดปริวรรตเงินตรามากขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป เนื่องจาก “ไทย” อยู่ในประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษเรื่องการบิดเบือนค่าเงินอาจถูกปรับฐานะเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า (Currency manipulator) ในรายงาน Macroeconomics and FX policy of major trading partners ช่วงต้นปีหน้าได้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกจักต้องดูแลบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินไทยของกิจการตัวเองให้ดีด้วย
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องจับตาความสัมพันธ์ของการเพิ่มขึ้น "ราคาทองคำ" กับแรงกดดันให้ "เงินบาทแข็งค่า" เพราะในช่วงที่ผ่านมาการแข็งค่าของเงินบาทมักมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากเวลาราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ผู้ค้าทองคำรายใหญ่มักขายทองคำ (ส่งออกทองคำ) เพื่อให้ได้รับการชำระเป็นเงินดอลลาร์ และได้กำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อหนึ่ง