ทันตกรรมเคลื่อนที่จุฬาฯ เดินหน้าเปิดหน่วยหลังวิกฤติโควิด
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ทันตแพทย์ฯ จุฬาฯ ถือเป็นโครงการที่ดำเนินมาหลายสิบปี มุ่งหวังให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงการรักษาสุขภาพช่องปาก ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมให้ความรู้แก่ อสส. อสม. และคนในชุมชน เพื่อดูแลต่อไปในระยะยาว
ทั้งนี้ การออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จุฬาฯ ในแต่ละครั้ง ได้รับความร่วมมือจากทีมทันตแพทย์ศิษย์เก่าจุฬาฯ ซึ่งใช้เวลาว่าง หรือสละเวลาจากการทำงานประจำ มาทำจิตอาสาตั้งแต่ 10 – 100 คนต่อครั้ง โดยออกหน่วยทั้งในชุมชนพื้นที่กทม. ชานเมือง และต่างจังหวัดที่ห่างไกล ในทุกๆ เดือน เดือนละ 1- 2 ครั้ง
“รศ.ร.อ.หญิง ทญ.ดร.รังสิมา สกุลณะมรรคา" รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ สื่อสารองค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการออกหน่วย คือ ฟันผุ หรือบางคนถึงขั้นต้องถอน เนื่องจากยังมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีเท่าที่ควร ไม่ได้พบทันตแพทย์เป็นประจำ เรื่องฟันส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเอาไว้ทีหลัง จะไปหาหมอเมื่อมีอาการปวด ขณะที่บางคนอาจจะผุ แต่ยังสามารถรักษารากฟันได้ แต่เลือกถอนเพราะจะได้เสร็จในครั้งเดียว ปัญหาต่อมา คือ ถอนแล้วไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือการให้ความรู้ ดังนั้น ทุกครั้งที่ออกหน่วย จึงจำเป็นต้องให้ความรู้กับ อสส. อสม. และคนในชุมชนที่สนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและดูแลได้ในระยะยาว
ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาการทำทันตกรรมไม่ว่าจะใน รพ. คลินิก รวมถึงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ต้องหยุดชะงัก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากการฟุ้งกระจาย ทำให้มีผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในส่วนของการรักษาปัญหาในช่องปากมากขึ้น เมื่อประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง
ด้วยความร่วมมือกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ พร้อมด้วยการสนับสนุนเครื่องดูดน้ำลายความแรงสูง (High power mobile suction) ซึ่งสามารถดูดไอละอองที่ฟุ้งกระจาย และมีระบบฆ่าเชื้อ จำนวน 10 เครื่อง และทุนในการออกหน่วย โดยเริ่มลงพื้นที่ชุมชนบ้านแบนชะโด เขตคลองสามวา เมื่อเดือน ต.ค. 2563 และ ครั้งที่ 2 ณ มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน เขตสะพานสูง เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 ที่่ผ่านมา
รศ.ร.อ.หญิง ทญ.ดร.รังสิมา กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกหน่วย เมื่อวันที่ 24 พย.ในพื้นที่ มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน เขตสะพานสูง กทม. ถือเป็นการออกหน่วยครั้งที่ 2 หลังจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นการรักษาผู้ป่วยในเชิงรุก ผ่านการเข้าไปรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์บริการสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีทันตแพทย์จิตอาสา 12 คน รองรับผู้ป่วยได้ราว 100 คน
ทั้งนี้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าออกหน่วยเดือนละหนึ่งครั้งจนถึงสิ้นปี 2563 จะมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิและซักประวัติ ก่อนเข้าไปยังจุดตรวจสุขภาพฟันเบื้องต้น จัดที่รับบัตรคิว การจัดที่นั่งรอหน้าห้องตรวจให้มีระยะห่างที่เหมาะสม มีมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานทำฟันตามมาตรฐานทันตแพทยสภา โดยทันตแพทย์และบุคลากรทางทันตกรรม ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น แผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield) แว่นป้องกัน หน้ากากอนามัย ชุด PPE และถุงมือยาง ระหว่างปฏิบัติงาน
มีฉากกั้น มีการทำความสะอาดเก้าอี้ทำฟันก่อนและหลังการรักษาทุกครั้ง มีเครื่องดูดละอองฝอย (Extra Oral Suction) เพื่อลดการฟุ้งกระจายของละออง มีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และทำความสะอาดพื้นที่ ทั้งก่อนและหลังการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ นอกจากนี้จะมีการควบคุมปริมาณคนที่เข้าไปรักษา โดยจะให้คนไข้หนึ่งคนอยู่ในบริเวณที่รักษาไม่เกิน 20 นาที และจะเปิดหน้าต่างเป็นระยะ มีพัดลมขนาดใหญ่ช่วยเป่าให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ (Air Change) พร้อมทั้งเครื่องพลาสมาที่ช่วยฆ่าเชื้อในอากาศและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
"สิตมน รัตนาวะดี" ในนามตัวแทนนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน เขตสะพานสูง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กัลฟ์ได้มาแจกข้าวกล่องในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเป็นพื้นที่ห่างไกลจากการเข้าถึงด้านสาธารณสุขการเดินทางค่อนข้างลำบาก การออกหน่วยทันตกรรมในพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนได้รับการรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากที่มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการคืนประโยชน์สู่สังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน
โดยในการออกหน่วยรอบสุดท้ายของปีในเดือน ธ.ค. จะเดินทางไปที่ โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ เขตบางนา และมีการพูดคุยในการทำโครงการต่อเนื่องในปีหน้า โดยต้องหารือร่วมกับแพทย์ถึงการจัดโครงการในเชิงป้องกันเพื่อให้ยั่งยืนต่อไป
ทพญ. พวงเพชร เสรฐภักดี ทันตแพทย์จิตอาสา ปัจจุบันประจำที่คลินิกเอกชนและอาจารย์พิเศษ เล่าว่า ส่วนตัวพยายามร่วมออกหน่วยฯ ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพราะถึงแม้ในพื้นที่เขตเมืองหลายคนก็เข้าไม่ถึงบริการ เนื่องด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องทำงาน ไม่มีเวลาต่อคิวนาน โดยบริการที่ออกหน่วยคือการรักษาเบื้องต้น อาทิ อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ทั้งนี้ การออกหน่วยแต่ละครั้งแพทย์หนึ่งคนทำฟันเฉลี่ย 18 -20 ราย เพราะบางหน่วยที่ไปรองรับคนไข้หลักพัน ดังนั้น จึงต้องใช้แพทย์เป็นร้อยคน ต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์
"ส่วนตัวเริ่มออกหน่วยตั้งแต่สมัยเรียน ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยรุ่นพี่ และเห็นรุ่นพี่ออกหน่วยมาตลอด พอเริ่มทำงานก็เห็นอาจารย์ผู้ใหญ่แม้ท่านจะอายุมากก็ยังมาทำงานให้กับประชาชน แต่ก่อนใช้วิธีการชักชวน แจ้งข่าวในกลุ่ม หากใครว่างในวันที่ไม่ได้ทำงาน ก็จะมาช่วยกัน แต่หากจำเป็นต้องไปอย่างต่างจังหวัดก็ลางาน แต่ส่วนใหญ่จะรู้ล่วงหน้า จึงสามารถจัดตารางนัดผู้ป่วยได้ อย่างน้อยเราได้ออกไปเจอพี่น้องทันตแพทย์ และได้ตรวจรักษาให้กับประชาชน" ทพญ.พวงเพชร กล่าวเพิ่มเติม
“สมศรี จินดาดวง” ชาวบ้านชุมชนทับช้างคลองบน ซึ่งเข้ารับบริการอุดฟันและขูดหินปูนในครั้งนี้เล่าว่าการที่มีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เข้ามาให้บริการทำให้สะดวกมากขึ้นเพราะอยู่ใกล้บ้าน อีกทั้งให้บริการฟรีจากคุณหมอที่เชี่ยวชาญ ไม่ต้องรอนานอยากให้มีการออกหน่วยเช่นนี้อีกในครั้งหน้าเพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถมาได้ในวันนี้ ซึ่งแต่เดิมใช้สิทธิ 30 บาทไปทำฟันที่ศูนย์อนามัย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพอสมควร