กรุงศรี ปรับจีดีพี ติดลบเหลือ -6.4% จากเดิมคาดลบ -10.3%
วิจัยกรุงศรี ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2563 เป็น -6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ -10.3% และคาดอัตราการเติบโตปี 2564 ที่ 3.3% ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาส
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสาย งานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ล่าสุดได้มี การปรับเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 สะท้อนตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2563 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้
การใช้จ่ายของภาครัฐมีการเร่งตัวขึ้นและการส่งออกสินค้าดีกว่าคาด เมื่อมองไปข้างหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ด้วยปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์ภายนอกประเทศ
วิจัยกรุงศรีมองเห็นความท้าทายรออยู่ข้างหน้าท่ามกลางปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ ขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช้ากว่าปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในภาคบริการ ภาวะการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต โดยการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัว
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศในระยะปานกลาง
Key revisions:
โดยวิจัยกรุงศรี มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งคาดว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในปี 2564
แม้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีมองว่าผลบวกจากการฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจจะถูกจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ การจ้างงานและรายได้ ความเสียหายจากวิกฤตโควิด-19 อาจรุนแรงมากขึ้นจากมาตรการจำกัดการเดินทาง การตอบสนองด้านนโยบายที่ไม่เพียงพอ และความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น
. ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลกบ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดปี 2564
นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมีแนวโน้มเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้ไปจนถึงมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในลักษณะวงจรขาลง