เสถียรภาพ 'บาท' ประคองเศรษฐกิจ
การที่แบงก์ชาติเตรียมออกแพ็คเกจการดูแลค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า เพื่อต้องการให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไปตามครรลองของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และไม่ผันผวนจนกระทบการดำเนินภาคธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากค่าเงินบาทเป็นปัจจัยสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย
เห็นด้วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ จะออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าไปมากหรือค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวน ที่ต้องย้ำว่าแข็งค่าแถมผันผวน เพราะเดือน พ.ย.เทียบเดือน ต.ค. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.9% จากเดือน ต.ค.ที่แข็งค่า 0.4% แต่หากดูค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันพบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาราว 1.1% ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทพบว่าเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นเป็นกว่า 5% จากค่าเฉลี่ยในปี 2562 ที่อยู่ที่กว่า 4% ถือว่าแข็งค่าและผันผวนในอัตราที่น่าห่วงหากไม่ดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่งเพิ่มเติม
จึงเป็นที่มาแบงก์ชาติประกาศออกมาชัดเจนว่า ในที่ 9 ธ.ค.นี้เตรียมจะแถลงข่าวแพ็คเกจการดูแลค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจใหญ่ ในการดูแลปัญหาเชิงโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเอื้อให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความทนทานต่อการเคลื่อนของค่าเงินบาทในอนาคต
หากตีความแนวทางดังกล่าว แบงก์ชาติต้องการให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไปตามครรลองของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และไม่ผันผวนจนกระทบการดำเนินของภาคธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งในเวลานี้ เพราะการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น จากนักลงทุนต่างชาติ ในตลาดเกิดใหม่และไทยก็อยู่ในกลุ่มนั้น และสถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกระยะยาวตราบที่การพัฒนาวัคซีนยังไม่เสถียร
แต่ถึงกระนั้นแบงก์ชาติก็พยายามออกมาตรการดูแลเพื่อไม่ให้ผันผวนสูงจนเกินไป แต่ไม่ใช่ปิดกั้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ กรอบคิดเหล่านี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในมาตรการ แน่นอนต้องหันกลับมาดูโครงสร้างค่าเงินบาท ปัจจุบันเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน และต้องอย่างลืมว่า การเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาตินั้นมุ่งไปที่ตลาดหุ้นของไทย ที่ผันผวนขึ้นลงอย่างหนักช่วงที่ผ่านมาตามแรงซื้อขายของต่างชาติ
เราเห็นว่าเมื่อปัญหาเงินบาทแข็งและผันผวน มีเรื่องของโครงสร้างค่าเงินบาทด้วย จึงจำเป็นต้องหารือหลายหน่วยงาน เพื่อวางกรอบให้มีการแก้ไขระยะยาวจริง ไม่ใช่เกิดปัญหามาครั้งหนึ่ง ต้องกลับมาถกเถียงกันแต่ละครั้ง เพราะหัวใจการแข่งขันด้านราคาของเอกชนในตลาดต่างประเทศไม่ได้อยู่ที่เงินบาทแข็งหรืออ่อนอย่างเดียว แต่ควรเป็นระดับค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจไทย ที่สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจ ว่ามีการพึ่งพาต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน ตราบใดที่ไทยยังพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศ การลงทุนในประเทศในอัตราที่ต่ำด้วยแล้ว แน่นอนเอกชนย่อมต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อน แต่หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องสร้างความสมดุลทุกภาคส่วน และค่าเงินบาทเป็นปัจจัยสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจ