กรมอนามัย ลดติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในปี 63 เหลือร้อยละ 1.3
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกปี 63 สามารถลดลงเหลือร้อยละ1.3 พร้อมเน้นย้ำให้แม่ท้องใส่ใจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ รีบฝากครรภ์ ตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ ซึ่งที่ผ่านมาผลการดำเนินงานระบบติดตามเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ( PHIMS, 25 พย. 2563 ) อัตราการติดเชื้อในทารกร้อยละ 1.3 ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 1 สำหรับการดำเนินงานเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกเป็นการดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนให้สถานบริการสาธารณสุขทุกเครือข่ายทั่วประเทศ จัดบริการปรึกษาแบบคู่ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์และสามี (Couple counseling) ทั้งก่อนและหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวีแก่หญิงตั้งครรภ์และสามีอย่างมีคุณภาพมากกว่าร้อยละ 60 และเก็บผลการตรวจเป็นความลับ โดยแจ้งให้ทราบเฉพาะผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอนุญาตเท่านั้น สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับการรักษา ด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูง (Highly Active Antiretroviral Therapy: HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสเมื่อแรกเกิด อีกทั้งได้รับนมผสมสำหรับเลี้ยงทารก และได้รับการตรวจวินิจฉัยหาการติดเชื้อเอชไอวีตามมาตรฐานการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้ง การส่งเสริมสุขภาพและการติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายยังได้สิทธิในการดูแล ด้านการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อทารกแบบรวดเร็ว (Early Infant Diagnosis ) เมื่อแรกเกิด 1 เดือน และ 2 เดือน และการได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มเติมในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มาฝากครรภ์ช้าด้วย
"ทั้งนี้ การลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่ครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด รวมทั้งลูกและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง หญิงตั้งครรภ์จึงต้องใส่ใจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ดังนี้
1) ฝากครรภ์โดยเร็วก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อได้รับการดูแลสุขภาพตนเองและลูกในครรภ์
2) รับการปรึกษาพร้อมคู่ เพื่อตรวจหาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี
3) หากหญิงตั้งครรภ์และคู่มีผลการตรวจเลือดเอชไอวีเป็นบวก จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง (HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจาก แม่สู่ลูก
และ 4) เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันการ ติดเชื้อ และได้รับนมผสมเพื่อทดแทนนมแม่นานถึง 18 เดือน” รักษาราชการอธิบดีกรมอนามัย กล่าว