จุฬาฯ พัฒนาการเรียนการสอน เสริมทักษะนิสิตด้านนวัตกรรม
จุฬาฯ จับมือ บิซิเนส ออนไลน์ พัฒนาการเรียนการสอน และทักษะของนิสิตด้านนวัตกรรม การใช้ฐานข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนวัตกรรมและธรรมาภิบาลที่ดี
วันนี้ (3 ธันวาคม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) จับมือ ร่วมกันในการพัฒนาการเรียนการสอน และทักษะของนิสิตด้านนวัตกรรม การใช้ฐานข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนวัตกรรมและธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในงาน พร้อมด้วย นายแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือ ในครั้งนี้จะช่วยในการพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมของนิสิต การส่งเสริมนวัตกรรมเชิงรุก เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ฐานข้อมูลของ BOL จะเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสังคม นอกจากนี้เมื่อนิสิตจบการศึกษาออกไปจะมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เรียนรู้ ทำให้ง่ายในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
นายแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย เกิดการพลิกผันของธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นตัวเร่งที่ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับภาคการศึกษาที่ต้องปรับตัวเพื่อการพัฒนาทักษะของนิสิตให้สอดคล้องกับทิศทางการศึกษาในโลกอนาคต โดยนิสิตที่จบออกมาอย่างน้อยต้องมีทักษะด้านนวัตกรรม รู้จักการใช้ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาผลงานใหม่ ๆ
"ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ซึ่งบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของนิสิตและการส่งเสริมนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ และธรรมาภิบาลที่ดี"