เจาะภารกิจ “สุรินทร์”แม่ทัพช่อง 3 พลิกภาพทีวี สู่ยักษ์ใหญ่คอนเทนท์
ผ่าหมากรบช่อง 3 กับการทรานส์ฟอร์มสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ "ยักษ์ใหญ่" เดินหน้าสร้างแม่น้ำ 3 สาย สร้างรายได้ พร้อมเคลือนทัพทีวีให้มี "กำไร" ปีหน้า
อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังไร้วี่แววฟื้นตัว ดิจิทัล ดิสรัปชั่นที่ว่าโหดหิน เป็นตัวแปรใหญ่ที่บรรรดาสถานีโทรทัศน์ต้องต่อสู้ ทรานส์ฟอร์มองค์กรให้รอด ควบคู่การพัฒนาคอนเทนท์ ทั้งละคร ซีรี่ส์ รายการวาไรตี้ และข่าว ฯ เพื่อตรึงคนดูให้อยู่หมัด ไม่ทันจะพ้นปากเหว เจอวิกฤติใหญ่ที่สะเทือนทั้งโลก จากโรคโควิด-19 ระบาด จนประเทศล็อกดาวน์ คนอยู่บ้าน
แม้เหตุจากไวรัสร้ายจะทำให้คนดูทีวี เรทติ้งขยับ แต่สินค้าและบริการกลับ “ชะลอ” การใช้เงิน เพราะเทงบไปอาจจะลายน้ำ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ใช้จ่าย คนทำทีวีจึงเหนื่อยหนักต่อไป
“ช่อง 3” ไม่เพียงเผชิญวิกฤติเหมือนกับทุกธุรกิจ แต่ช่วงที่มรสุมรุมเร้า องค์กรมีการปรับเปลี่ยนแม่ทัพจาก “อริยะ พนมยงค์” มาสู่ลูกหม้อคนคุ้นเคยอย่าง สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ซึ่งกลับมานั่งในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ภารกิจสำคัญของ “สุรินทร์” คือการทำให้ช่อง 3 แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในโลกที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน และขาดไม่ได้คือผลการดำเนินงานทั้ง “รายได้-กำไร” ต้องฟื้นตัวจากหดตัว ติดลบ ให้กลับมาเป็นบวกในปี 2564
การกลับมาขับเคลื่อนธุรกิจทีวีที่ช่อง 3 มีโจทย์ยากอะไรบ้าง “สุรินทร์” ให้มุมมองว่า “การทำธุรกิจยากทุกที่” แต่แนวทางการดำเนินงาน สิ่งที่โฟกัสจะไม่เหมือนเดิม ยิ่งกว่านั้น หลังจากการประชุมกับทีมผู้บริหารมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ “ช่อง3 ต้องเป็นมากกว่าทีวี” โดยการพึ่งพารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาจะไม่ใช่ตะกร้าใบใหญ่ใบเดียวอีกต่อไป แต่กระจายสู่แม่น้ำ 3 สาย
เหตุผลเพราะอุตสาหกรรมโฆษณาทางทีวียังคงดิ่ง “สุรินทร์” ประเมินปี 2558-2568 เม็ดเงินของลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านทีวีจะลดลงรวม 50% จากปีนี้ตกไปแล้ว 40% และปี 2566 จะหดตัวรวม 46-47%
ขณะที่แม่น้ำ 3 สาย จะเป็นแหล่งรายได้ ประกอบด้วย 1.ทีวี ซึ่งจะเห็นการผลิตคอนเทนท์คุณภาพเสิร์ฟคนดู ไม่ว่าจะเป็นละคร 1 ปีมีมากถึง 30-40 เรื่อง รายการวาไรตี้ที่คนนิยมดูน้อยลง เพราะทางเลือกในการเสพคอนเทนท์มีมากมาย หากทำรายการเดิมๆย่อมมยากจะประสบความสำเร็จ ต้องคิดใหม่ ส่วน “ข่าว” ที่ทำรายได้รองจากละคร เตรียมพลิกเกมรบเพื่อให้รายการข่าวกลับมา “ดัง” อีกครั้ง จึงเตรียมหาผู้ดำเนินรายการที่ดึงคนดูได้ เป็นต้น
“2-3 ปีที่ผ่านมา รายการข่าวของช่อง 3 โดดเด่นลดลง เพราะช่องข่าวจะโหมข่าวเต็มที่ ส่วนพฤติกรรมคนดูมีการเปลี่ยนแปลง ภาพรวมมีการเน้นคอนเทนท์เฉพาะด้าน”
แม่น้ำสายที่ 2 ป้อนคอนเทนท์เสิร์ฟแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะออนไลน์ ผนึก “โอทีที”(Over The Top) ในตลาด จากปัจจุบันมีพันธมิตรทั้งวีทีวี, เน็ตฟลิกซ์, อ้ายฉีอี้ ฯ และจะเห็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อผลิตออริจินัล และแม่น้ำสาย 3 คือการขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์เจาะตลาดต่างประเทศทั่วโลก เพราะช่อง 3 มีแต้มต่อจำนวนคอนเทนท์ เฉพาะละครมีนับ “พันเรื่อง” โดยต้นทุนเดิมแต่ต่อยอดสร้างรายได้ 3 ต่อ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสามพลัส(3+)สู่มิติใหม่ให้ตอบโจทย์คนดูยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาช่อง 3 มีการออกอากาศละครคู่ขนาน(Simulcast)ไปต่างแดนหลายเรื่อง เช่น ร้อยเล่ห์มารยาออกอากาศในไทยและ 10 ประเทศ ทั้งจีน อินเดีย มาเลเซีย สำหรับโครงสร้างสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ปีนี้ครองสัดส่วน 20% ทีวี 80% แต่การรุกตลาดในปีหน้า ตั้งเป้าหมายรายได้ใหม่แตะ 25%
“เรายังคงเน้นธุรกิจทีวีสร้างรายได้ แต่จะกระจายไปสู่สื่อใหม่และตลาดโลกมากขึ้น เพราะจากวิชั่นของเราต้องเป็นมากกว่าทีวี โดยจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ขนาดใหญ่ ต่อยอดซิงเกิล คอนเทนท์ สู่มัลติแพลตฟอร์ม”
บทบาทแม่ทัพธุรกิจทีวี นอกจากทำให้ธุรกิจเติบโต ภารกิจการ “ลดต้นทุน” ยังมีให้เห็น ก่อนหน้านี้บริษัทเขย่าโครงสร้างพนักงานอีกครั้ง ทำให้สิ้นปีจะเหลือคนทำงานต่ำกว่า 1,000 ชีวิต แต่กระนั้นการก้าวสู่ออนไลน์มากขึ้น ยังคงเปิดรับคนทำงานที่มีทักษะใหม่ๆ รวมถึงคนทำงานเดิม ต้องเพิ่มทักษะตนเองรับโลกอนาคตด้วย
“คนของเรายังเยอะอยู่ และจากนี้ไปคนทำงานต้องปรับทักษะ เพราะโลกดิจิทัลกระทบธุรกิจทีวีโดยตรง เป็นเส้นเป็นเส้นตายในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม จากแผนงานดังกล่าว “สุรินทร์” คาดหวังจะทำให้ช่อง 3 พลิกทำกำไรได้ภายในปีหน้า และรายได้เติบโตในอัตรา 2 หลัก ส่วนปีนี้ยังต้องดูผลประกอบการ แม้ไตรมาส 3 จะมีกำไร แต่เกิดจากการลดต้นทุน ส่วนแนวโน้มอุตสหากรรมโฆษณา หากเศรษฐกิจโลกฟื้น การเมืองไทยมีเสถียรภาพ และโควิดคลี่คลาย เชื่อว่าสินค้าและบริการจะกลับมาใช้จ่ายผ่านสื่อโทรทัศน์อีกครั้ง