เปิด 2 แนวทางดัน'ถุงมือยาง' ยืนหนึ่งผู้ผลิตโลก
กยท. จัดงานสัมมนาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทย หนุนนโยบาย Hub of Natural Rubber Glove ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ณ ห้องประชุมราชไมตรี การยางแห่งประเทศไทยบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ขยายทั่วโลก ทำให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข รวมถึงการใช้ถุงมือยางในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ดังนั้น เพื่อความสะอาดและความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมถุงมือยางจึงสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก ภาครัฐจึงมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก ด้วยความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์คุณภาพวัตถุดิบยางของไทย ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ยางไทย ประเด็นสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทยในปัจจุบัน จึงมุ่งไปที่ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ ตอนนี้ประเทศไทยมีนวัตกรรมในการลดโปรตีนแพ้ในถุงมือยางธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถุงมือในประเทศไทยก่อน ซึ่งนวัตกรรมนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสในการผลิตและการแข่งขันถุงมือยางธรรมชาติให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อการใช้งานที่ดี
ประเด็นที่สอง การผลักดันมาตรฐานถุงมือยาง ในกระบวนการผลิตและการขอใบรับรองทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และเป็นการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีต่อประเทศไทย และอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต
“อุตสาหกรรมถุงมือยางไทย จะสามารถเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องได้รับการบูรณาการและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสัมมนาในครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ให้ภาคอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของประเทศต่อไป”
นางสาวนภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กล่าวถึงสถานการณ์และสถิติการส่งออกถุงมือยางของไทย ว่าไทยส่งออกถุงมือยางมากเป็นลำดับสองของโลก รองจากมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2562 ประมาณ 37,381 ล้านบาท หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกถุงมือยางสูงถึง 20,540 ล้านคู่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ในปีก่อน 22.08%
คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 53,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น72.47%
แบ่งเป็นถุงมือผ่าตัดประมาณ 732 ล้านคู่ คิดเป็นมูลค่า 7,407 ล้านบาท และถุงมือตรวจโรคหรือถุงมือแม่บ้านประมาณ 19,808 ล้านคู่ มูลค่า 46,395 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อเทียบตัวเลขการส่งออกถุงมือยางของไทย ปี 2562 และ ปี 2563 จะเห็นว่าปริมาณการส่งออกปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย 5 อันดับแรกที่นำเข้าถุงมือยางจากไทย ได้แก่ สหรัฐ มูลค่า 20,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น40.29% รองลงมาเป็นประเทศอังกฤษ มูลค่า 3,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น941.72% ลำดับที่สาม ประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 2,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น61.17% ประเทศจีน มูลค่า 2,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.6% และเยอรมนี มูลค่า 2,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น56.86%
นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่านักวิจัยจากหลากหลายสถาบันพยายามคิดค้นวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการแพ้โปรตีนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งในวันนี้ MTEC ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคการขจัดโปรตีนแพ้ในถุงมือยาง จากการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ เมื่อนำถุงมือยางที่ใช้เทคนิคนี้ไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนแพ้ด้วยวิธีการตามมาตรฐาน ASTM D7427-16 ผลที่ได้คือปริมาณโปรตีนแพ้ที่ตรวจพบเป็นศูนย์หรือตรวจไม่พบโปรตีนแพ้เลย
ในขณะที่การคำนวณต้นทุนส่วนเพิ่มในเบื้องต้นจาก Bill of Material (BOM) และขั้นตอนการดำเนินการ คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ผู้ผลิตยอมรับได้ เพื่อขยายผลผลงานวิจัยนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์จริง จึงจะมีการทดสอบการผลิตระดับอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมพัฒนามาตรฐานถุงมือยางที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้โปรตีนในระดับสากล อันจะส่งผลในการพัฒนาการตลาดของถุงมือยางธรรมชาติ
นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางในด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในด้านผลิตภาพ ระยะเวลา การควบคุมคุณภาพ ฯลฯ จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทย สร้างความต้องการวัตถุดิบน้ำยางมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ผู้แทนจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า มาตรฐานสำหรับถุงมือทางการแพทย์ในปัจจุบัน แบ่งเป็น ถุงมือสำหรับศัลยกรรม และถุงมือสำหรับตรวจโรค ซึ่งถุงมือทั้ง 2 ประเภท สามารถผลิตจากน้ำยางธรรมชาติและน้ำยางสังเคราะห์ โดยควบคุมมาตรฐานถุงมือทางการแพทย์ภายใต้มาตรฐาน มอก. และ ISO ทั้งนี้ ถุงมือสำหรับศัลยกรรมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ใบอนุญาต ผู้ผลิตต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก แต่ถุงมือสำหรับการตรวจโรคจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ผู้ผลิตไม่ต้องดำเนินการขอรับใบสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนผู้ประกอบการถุงมือทั้ง 2 ประเภทต้องจัดทำบันทึกการผลิต/นำเข้า/ขาย ไว้ที่บริษัท แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการถุงมือสำหรับศัลยกรรมจะต้องส่งรายงานมาที่ อย. ด้วย อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตการส่งออกถุงมือศัลยกรรม ผู้ประกอบการ จะต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงฉลากสินค้าต้องเป็นไปตามที่คู่ค้ากำหนด