โรงงานอาหารทางการแพทย์ ม.มหิดล หนุนวิจัย ลดการนำเข้า
อาหารทางการแพทย์ มีความสำคัญทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืน หรือได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน แม้ปัจจุบัน ไทยจะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และมีอัตราเติบโตกว่า 20% แต่ส่วนใหญ่ยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศหรือเป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ
ปัญหาหนึ่งของการวิจัยและพัฒนา “อาหารทางการแพทย์” คือ ขาดจุดเชื่อมโดยเฉพาะในขั้นตอนการทดลองผลิตจริงในโรงงานที่สามารถควบคุมคุณภาพ และสามารถปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตให้มีสเกลตรงกับความต้องการของผู้วิจัยได้ ทำให้ที่ผ่านมา มีการผลิตในห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บ ซึ่งไม่สามารถผลิตในปริมาณมากเพียงพอต่อการทดสอบทางคลินิก และอาจมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสารอาหาร คุณค่าโภชนาการ ระหว่างการแปรรูป
“รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา” ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ แม้ตลาดไม่ใหญ่ แต่มีความสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหรือร่วมทุนกับต่างประเทศ ขณะที่อาหารทางการแพทย์สำหรับบางกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะสามารถนำเข้ามาได้จากผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้าถึง
โดยเฉพาะในกลุ่มโรคหายาก ซึ่งมีชนิดของโรคค่อนข้างมาก แต่จำนวนผู้ป่วยน้อย บางชนิดพบ 1 ต่อ 10,000 แม้บางโรครักษาได้จากยา หรือ รักษาตั้งแต่แรกคลอด แต่บางโรคต้องพึ่งอาหาร เช่น กลุ่มที่มีปัญหาในการย่อยสลายโปรตีน ทำให้เกิดการคั่งค้างสารบางตัว มีผลต่อพัฒนาการในการเติบโต ต้องการอาหารที่กำจัดกรดอะมิโนบางตัวออก ร่วมกับการใช้อาหารทางการแพทย์ และอาหารอื่นๆ จากจำนวนผู้ป่วยที่น้อย จึงไม่มีมูลค่าตลาดที่สูงพอในการนำเข้าหรือผลิต หรืออาจมีการนำเข้าแต่ราคาสูงมาก
ขณะที่แนวโน้มการพัฒนาของประเทศซึ่งมุ่งสู่ Medical Hub ภาพรวมนอกจากยา และ แพทย์แล้ว อาหารทางการแพทย์ก็มีความสำคัญเช่นกัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการวิจัยพัฒนาบ้างในภาครัฐ และมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังน้อย และยังขาดจุดเชื่อม เพราะการทดสอบในห้องปฏิบัติการไม่ทราบได้ว่ากระบวนการผลิตจริงจะมีปัญหา หรือมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการแปรรูปหรือไม่
นำมาซึ่ง โครงการโรงงานนำร่องผลิตอาหารทางการแพทย์และอาหารเพื่อสุขภาพด้วยระบบปลอดเชื้อ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากทางมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และเอกชน ในการสร้างโรงงานอาหารทางการแพทย์ ที่สามารถผลิตตั้งแต่ปริมาณน้อย จนถึงจำนวนมากเพียงพอต่อการนำไปทดสอบทางคลินิกเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทดสอบภายใต้การดูแลของแพทย์ และมากพอในการทดลองตลาด ผลิต และขายจริงในเบื้องต้น ใช้งบประมาณราว 70 ล้านบาท ในพื้นที่ ม.มหิดล ศาลายา
โดยใช้โรงงานในสถาบันโภชนาการ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารเพื่อการเรียนการสอน ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นระบบปิด มีระบบเข้าออกโรงงานทั้งคนและวัตถุดิบ วางผัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) พร้อมทั้ง สั่งผลิตตัวเครื่องที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วยระบบยูเอชที และบรรจุอัตโนมัติ กำลังการผลิตราว 2 – 100 ลิตรต่อชั่วโมง สามารถยืดหยุ่นกำลังการผลิต ทำตามออเดอร์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในต้นปี 2565
รศ.ดร.ชลัท อธิบายเพิ่มเติมว่า หากโรงงานแล้วเสร็จ ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ ทั้งผู้วิจัย รวมถึงเอกชน ที่มีการวิจัยและต้องการทดสอบการผลิต สามารถเข้ามาใช้บริการได้ รวมถึงใช้ในการวิจัยอาหารทางการแพทย์ที่ ม.มหิดล ทำการวิจัยมาก่อนหน้านี้ ก็สามารถนำมาต่อยอดในส่วนนี้ได้ ช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ของไทยพัฒนามากขึ้น เพราะนอกจากการพัฒนาโดยใช้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การอาหาร โภชนาการแล้ว ต้องมีการทำงานร่วมกับแพทย์ และมีการผลิต ทดสอบ ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาให้มีโอกาสเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น สามารถผลิตในปริมาณมากสำหรับการทดสอบทางคลินิก มีระบบฆ่าเชื้อเพื่อให้ผู้ป่วยนำกลับไปทานที่บ้าน ซึ่งไม่สามารถทำในห้องปฏิบัติการทั่วไปได้
นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตในเชิงกึ่งการค้า เพื่อทดสอบตลาดว่าผู้บริโภคยอมรับหรือไม่ และสามารถช่วยให้เอกชน ซึ่งเดิมอาจจะผลิตอาหารทั่วไป แต่ต้องการผลิตอาหารทางการแพทย์ แต่ยังไม่มีเครื่องมือในการทดสอบ สามารถมาใช้บริการได้ รวมถึงการผลิตที่ไม่ใช่เชิงการค้าอีกด้วย เพราะพันธกิจหนึ่งของสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล คือการตอบสนองสังคม ในการผลิตผลิตอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีเอกชนผลิต เนื่องจากตลาดยังเล็ก ก็สามารถผลิตเพื่อตอบสนองผู้ป่วยตรงนั้นได้
สำหรับแนวโน้มและทิศทางอาหารทางการแพทย์ในอนาคต รศ.ดร.ชลัท ให้ความเห็นว่า อาหารทางการแพทย์เรียกว่าเป็น Future Food รวมถึงในกลุ่มของ Organic Food หรือ Functional Food อาหารทางการแพทย์ทั่วโลก ปี 2562 มูลค่าราว 19 พันล้านเหรียญ ขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขจากภาคเอกชน พบว่า เติบโตราว 20% โดยมูลค่าตลาดราว 3 พันล้านบาท ถึงแม้ว่าจะไม่มากเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่น แต่มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากเทรนด์การเจ็บป่วย และ ผู้สูงอายุที่มากขึ้น อาจจะต้องการอาหารสารอาหาร หรือ อาหารจำเพาะมากขึ้น
“ในอนาคตคาดว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์คงอยู่ที่ราว 20% และไม่น่าจะลดลง เนื่องจากสังคมไปในทิศทางที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับโรค และ ความเจ็บป่วย ขณะที่เอกชนจากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาตั้งโรงงานผลิตหรือร่วมทุน แสดงให้เห็นว่า เขาเห็นโอกาส ขณะที่ในแง่ของเศรษฐกิจ ซึ่งไทยมีเป้าหมายในการเป็น Medical Hub หากอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ไทยมีความเข้มแข็งจะสามารถตอบโจทย์ประเทศเพื่อนบ้านได้ในแง่ของการส่งออก ปิดช่องการพึ่งพาการนำเข้าได้” รศ.ดร.ชลัท กล่าว
ทั้งนี้ อาหารทางการแพทย์ จัดอยู่ในกลุ่มอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ต้องขึ้นทะเบียน และ ควบคุมโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉลากต้องเขียนระบุให้ชัดเจน รวมถึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีข้อกำหนดในการควบคุม ที่ผ่านมา ม.มหิดล มีการพัฒนาอาหารทางการแพทย์หลากหลาย เช่น สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จากพันธุ์ข้าวไทย อาหารสำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรืออาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหายากที่มีปัญหาเรื่องการย่อยสลายกรดอะมิโนบางชนิด ซึ่งมีการวิจัยและผลิตให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่รักษาตัว โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่แต่เดิมต้องได้รับบริจาคจากบริษัทในต่างประเทศ