เกมจับคู่พันธมิตร 'มอส เบอร์เกอร์-เป๊ปซี่' ควงกันสู้ศึก 'อาหาร-เครื่องดื่ม' หนุนเติบโต
อาหารและเครื่องดื่มเป็นสิ่งที่ต้องบริโภคคู่กัน(Combination) ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ความอร่อยครบรสอาจหายไป เช่นกันกับ “เบอร์เกอร์” มักจะจับคู่กับ “น้ำอัดลม” และ 2 ตลาดนี้ล้วนมี “บิ๊กแบรนด์” ยึดพื้นที่ไว้อย่างเหนียวแน่น
ตลาดเบอร์เกอร์หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 5-8% มีแบรนด์รอง “มอส เบอร์เกอร์” สัญชาติซามูไรแต่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่วางยุทธศาสตร์ 5 ปี ต้องขยายสาขาเชิงรุก สร้างการเติบโต แต่ด้วยชื่อชั้นแบรนด์ยังไม่เป็นที่รับรู้มาก เพราะจำนวนร้านน้อยเพียง 16 สาขา จะให้ทุ่มโฆษณาสื่อสารแบรนด์และการตลาดคงไม่คุ้ม จึงต้องอาศัยพลังพันธมิตรมาช่วยอีกแรง ล่าสุดจึงเห็นการผนึก “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ” ช่วยกันทำตลาด
ทว่า เบื้องหลังความร่วมมือมีมากกว่าเกม Win-win strategy โดย สุรศักดิ์ จินตนานฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มอส เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า มอส เบอร์เกอร์ ในญี่ปุ่น มีการใช้เครื่องดื่ม “เป๊ปซี่” เสิร์ฟลูกค้ามากว่า 7 ปี ในไทยจึงเปลี่ยนค่ายตาม แต่ยิ่งกว่านั้น แนวนโยบายการขับเคลื่อนธุรกิจของ มอส เบอร์เกอร์และซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ ถือว่าตรงกัน คือช่วยเหลือกันเพื่อผลักดันการเติบโตด้านการบริโภค(Comsumption)ภายในร้านอาหาร
สุรศักดิ์ จินตนานฤมิตร
ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยจำนวนไม่น้อย ที่ไปเยือนญี่ปุ่นและรับประทานมอส เบอร์เกอร์ จะคุ้นชินกับการดื่มเป๊ปซี่ และอีกเมนูเครื่องดื่มที่ถามไถ่ร้านเสมอคือ “ชามะนาว” ดังนั้นการผนึกซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ จึงแก้ปัญหาหรือ Pain point พร้อมตอบสนองคามต้อการกลุ่มเป้าหมายให้ตรงใจยิ่งขึ้น โดยการเสิร์ฟเครื่องดื่มครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่น้ำอัดลม “ชามะนาวลิปตัน” แต่ยังมีน้ำดื่ม “อควาฟิน่า” ของพันธมิตรมาครบ!
“การร่วมมือกับเป๊ปซี่ ช่วยเพิ่มลูกค้าเข้าร้าน และยังต่อยอดการใช้เครือข่ายพันธมิตรของเป๊ปซี่ทำกิจกรรมการตลาดอื่นๆเพิ่มเติมด้วย”
ปี 2563 ธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แผนธุรกิจมอส เบอร์เกอร์ กลับเดินเกมรุกทั้งขยายสาขาเพิ่มปีละ 8-10 สาขา ลงทุนราว 7-8 ล้านบาท เพื่อสานเป้าหมายมีสาขาแตะ 89-90 สาขาใน 5 ปีข้างหน้า และมีรายได้แตะ 500 ล้านบาท หรือเติบโต 20% ต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขโควิดคลี่คลาย สถานการณ์ทุกอย่างปกติ
ขณะที่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มระดับโลกมี “เป๊ปซี่” หนึ่งในพระเอกของบริษัท ภารกิจสำคัญไม่แค่ขายผ่านร้านค้าปลีก แต่ร้านอาหารเป็นอีกช่องทางที่ต้องฟาดฟันแย่งกระชับพื้นที่กับคู่แข่ง หวังเป็นเครื่องดื่มที่ลูกค้าเลือก(Share of Throat)
ทันทีที่ อชิต โจชิ เข้ามารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภารกิจสู้ศึกเครื่องดื่มมีมากมาย และหนึ่งในการผนึกกับ “มอส เบอร์เกอร์” เป็นหมากรบแรกๆที่ดำเนินการ ถือเป็นการชิงร้านจากคู่แข่ง
อชิต โจชิ
“อชิต” เล่าว่า หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้ธุรกิจเครื่องดื่มคือการขยายสู่ร้านอาหารเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้สามารถดื่มเป๊ปซี่ได้ทุกที่ทุกเวลา ปัจจุบันเป๊ปซี่ ป้อนสินค้าให้กับร้านอาหารพันธมิตรมากมายตั้งแต่ร้านริมทาง(Street food) ร้านอาหารเครือข่าย(Chain restaurant) ไปจนถึงร้านหรูหรา
เฉพาะร้านอาหารริมทางขนาดย่อม มีเครือข่ายมากถึง 6-7 หมื่นร้านทั่วไทย ซึ่งกลยุทธ์ในการดึงมาเป็นคู่ค้า คือการนำเสนอแบรนด์ที่แข็งแกร่งครองใจผู้บริโภค ทีมงานจะต้องทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อให้ทราบความต้องการ แล้วนำเสนอสินค้าและบริการตอบโจทย์เฉพาะให้ตรงใจแต่ละราย(Customize)
ส่วนความร่วมมือกับมอส เบอร์เกอร์ ไม่เพียงแค่เป๊ปซี่ได้ขยายฐาน เจาะกลุ่มลุกค้าใหม่ แต่ผู้บริโภคจะได้เห็นเป๊ปซี่มากขึ้น(Brand Visibility) มีโอกาสถูกเลือกและสร้างยอดขายเพิ่ม
“เป๊ปซี่ต้องการขยายตลาดเครื่องดื่มไปจับคู่กับร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้สินค้ากระจายถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเซ็กเมนต์ ทุกพื้นที่ เราจึงมองหาพาร์ทเนอร์ให้มากขึ้น เพื่อร่วมมือสร้างการเติบโตทางธุรกิจ”
ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มมีมูลค่ารา 2 แสนล้านบาท ปีนี้ “น้ำอัดลม” เป็นหมวดที่ฝ่าวิกฤติโควิดเติบโตได้ แต่หากมองภูมิทัศน์ตลาดโดยรวมทั้งการแข่งขัน พฤติกรรมผู้บริโภคในการดื่มเครื่องดื่มเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่มาแรง ปีหน้าเป๊ปซี่จึงเตรียมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหญ่บุกตลาด รวมถึงการเห็นการฟื้นสินค้าบางรายการกลับมาทำตลาดอีกครั้ง