ไทยติดโควิด-19ในประเทศแบบกลุ่มก้อน บุคลากรทางการแพทย์

ไทยติดโควิด-19ในประเทศแบบกลุ่มก้อน บุคลากรทางการแพทย์

รอบ 3 วัน ไทยพบติดโควิด-19ในประเทศแบบกลุ่มก้อน บุคลากรทางการแพทย์ในASQ 5 ราย ทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นเพื่อนร่วมงาน เร่งสอบสวนโรคหาต้นตอแพร่เชื้อ สบส.สั่งทุกASQ ยกระดับแนวปฏิบัติป้องกันการติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีผู้ติดโควิด-19 เพิ่ม 19 ราย โดย 14 รายเดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด ส่วนอีก 5 รายแยกเป็น 1 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาผ่านช่องทางธรรมชาติ จ.เชียงราย และ 4 รายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ในกรุงเทพมหานคร

ไทม์ไลน์ของผู้ลักลอบเข้าเมืองจากท่าขี้เหล็กที่จ.เชียงราย เป็นหญิง อายุ 21 ปี เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2563 เวลา 06.00 น. ผู้ป่วยเดินทางข้ามเข้ามาฝั่งไทยกับเพื่อน (ผู้ติดเชื้อจ.ราชบุรี) ทางเส้นทางธรรมชาติ โดยมีชาวเมียนมาเป็นผู้นำทางมาส่ง เวลา 07.00 น.ผู้ป่วยโทรหาแฟนให้ไปรับตนและเพื่อนที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง, เวลา 08.00 น. แฟนของผู้ป่วยเดินทางถึงสถานที่นัดพบและเดินทางต่อไปยังสนามบินเชียงรายเพื่อไปส่งเพื่อน (เคสราชบุรี) ขึ้นเครื่องไป กทม. เวลา 09.00 น.เดินทางถึงสนามบินเชียงราย หลังจากนั้นผู้ป่วยและแฟนเดินทางกลับบ้านทันทีโดยไม่ได้ลงจากรถ, เวลา 10.30 น.ผู้ป่วยและแฟนเดินทางถึงบ้าน, เวลา 18.00 น. ผู้ป่วยและแฟนเดินทางไปเที่ยวงานสิงห์ปาร์ค โดยมีเพื่อน 2 คนโดยสารไปด้วย และมีเพื่อนมาสมทบอีก 3 คนในภายหลัง โดยขับรถยนต์ส่วนตัวตามไปที่งาน ซึ่งทั้ง 7 คน นั่งบริเวณโซนกลางของงานใกล้กับผู้ติดโควิดรายจ.พะเยาก่อนหน้านี้ และเวลา 24.00 น. เดินทางออกจากงานและกลับถึงบ้านในเวลา 03.00 น.

วันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค. ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าอาศัยอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปไหน, วันที่ 3 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ผู้ป่วยและแฟนเดินทางมาขอคิวตรวจหาโรคโควิดที่โรงพยาบาลเอกชนในอ.แม่สาย ตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เมื่อได้คิวแล้วเดินทางกลับบ้านทันที, เวลา 15.45 น. ผู้ป่วยและแฟนเดินทางมายังจุดตรวจ, เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจ ยังไม่ได้ผล , เวลา 16.00 น. ผู้ป่วยและแฟนเดินทางออกจากโรงพยาบาลและเมื่อถึงบ้านก็อาศัยอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปไหน

วันที่ 5 ธ.ค.เวลา 16.20 น. ผู้ป่วยและแฟนเดินทางมายังจุดบริการตรวจโควิดโรงพยาบาลเอกชนในอ.แม่สาย เพื่อเข้ารับการตรวจโควิดอีกครั้งโดยยินดีชำระเงินเองเนื่องจากไม่ต้องรอผลการตรวจนาน, เวลา 16.50 น. เจ้าหน้าที่การเงินมาเก็บค่าบริการ, เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจ, เวลา 17.10 น. เจ้าหน้าที่การเงินนำเงินทอนมาให้, เวลา 17.10 น. ผู้ป่วยและแฟนเดินทางออกจากโรงพยาบาลและเมื่อถึงบ้านก็อาศัยอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปไหน, วันที่ 6 ธ.ค. รับแจ้งผลการตรวจว่าพบการติดโควิด-19 และโรงพยาบาลแม่สายส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทั้งนี้ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 9 คน เสี่ยงต่ำ 8 คน เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนในอำเภอแม่สาย ขณะนี้ ทีมปฏิบัติการการสอบสวนโรค ได้ติดตามผู้สัมผัสทั้งหมดเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อและกักตัวแล้ว

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ 4 รายนั้น เป็นพยาบาลหญิง อายุ 40 ปี เริ่มป่วยวันที่ 4 ธ.ค.2563 มีไข้และน้ำมูก,พยาบาลหญิง อายุ 32 ปี เริ่มป่วยวันที่ 5 ธ.ค.2563 มีไข้ ,พยาบาลหญิง อายุ 25 ปี เริ่มป่วย 29 พ.ย.2563 มีน้ำมูก ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ และพยาบาลชาย อายุ 27 ปี ไม่มีอาการ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมกัน รวมถึง บุคลากรทางการแพทย์ หญิง 1 ราย ที่รายงานการติดเชื้อไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2563 ปฏิบัติงานในรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง และสถานที่กักกันทางเลือก(Alternative State Quarantine : ASQ) 2 แห่งในกรุงเทพมหานคร

“เป็นการติดเชื้อในประเทศแบบกลุ่มก้อนแต่ไม่เป็นวงกว้าง การสอบสวนโรคเบื้องต้นมีผู้สัมผัสเสี่ยงสุง 51 ราย แยกเป็นรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง 31 ราย เพื่อนร่วมห้องพัก 6 ราย ห้องสัมภาษณ์งานรพ.รัฐแห่งหนึ่ง 7 ราย และครอบครัว 7 ราย ผลการตรวจหาเชื้อรอบแรกไม่พบการติดเชื้อทั้ง 51 ราย แต่จะต้องมีการกักตัวครบ 14 วันและตรวจหาเชื้ออีกครั้ง และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 229 ราย ได้มีการเก็บตัวอย่างเชื้อรอผลตรวจและสั่งให้เฝ้าระวังสังเกตอาการ จนครบ 14 วัน อย่างไรก็ตาม กรณีอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม ซึ่งจำเป็นต้องมีการถอดรหัสพันธุกรรมให้ทราบสายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด เพื่อให้ทราบแหล่งและจุดต้นตอการติดเชื้อ”นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า สถานที่กักกันถือเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมโรคสำหรับคนที่เข้ามาในประเทศ โดยปัจจุบันมีสถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine:SQ) 25 แห่ง สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) 116 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญากับASQ จำนวน 17 แห่ง สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่( Alternative Lacal Quarantine :ALQ) 39 แห่ง และสถานกักกันที่เป็นโรงพยาบาล( Alternative Hospital Quarantine : AHQ) 183 แห่ง ขณะนี้มีคนเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในสถานที่กักกันราว 171,016 คน โดยอัตราการตรวจพบติดเชื้อภาพรวมอยู่ที่ 0.67% ส่วนในASQ ยู่ที่ 0.54% ซึ่งไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับภาพรวมของการติดเชื้อในสถานที่กักกันต่างๆ ทั้งนี้ ในASQ มีการวางระบบความปลอดภัยให้ทั้งผู้เข้าพัก ผู้ให้บริการ และยังมีผู้ดูแล ที่เรียกว่า โควิดคอมมานเดอร์ มาดูแลในแต่ละโรงแรม และยังมีของกระทรวงกลาโหมที่เรียกว่า อินซิเดนท์คอมมานเดอร์ด้วย


“กรมได้สื่อสารทางไลน์กลุ่มASQ ขอให้ยกระดับการระมัดระวังและปฏิบัติตามแนวป้องกันการติดเชื้อของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมเป็นASQ และได้ร่วมกับทีมควบคุมโรคในการหาสาเหตุ ช่องวาง และจุดอ่อน และวันที่ 9 ธ.ค.2563 จะมีการซักซ้อมชี้แจงแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยทีมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ชี้แจงผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์”นพ.ธเรศกล่าว

เมื่อถามกรณีก่อนหน้านี้มีการทำนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับสถานกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวังโควิดว่า หาก ASQ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะมีบทลงโทษ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ขอรอการสอบสวนโรคก่อน เพราะหากเป็นความผิดพลาดจากความประมาทเลินเล่อ ความตั้งใจก็จะอีกเรื่องหนึ่ง แต่จริงๆ โรงแรมหรือสถานพยาบาลที่เข้าสู่ระบบมีความตั้งใจดี เพราะกระบวนการรับคนมากักกันคนที่โรงแรมหรือโรงพยาบาลคู่สัญญา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องช่วยชาติ ไม่เช่นนั้นคนไทยหรือคนต่างชาติจะเข้ามาสู่ประเทศได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับปรุงระบบตามข้อเสนอแนะ และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องสั่งให้ASQ หยุดรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ จนกว่าจะมีการสอบสวนโรคที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นตอของการติดเชื้อจึงจะพิจารณาอีกครั้ง