'เพื่อไทย' ตั้ง 'คณะกรรมการ' เกาะติดแก้ 'รัฐธรรมนูญ'
'เพื่อไทย' แถลง ตั้ง คณะกรรมการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำ ตั้ง ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน พร้อมทำประชามติให้ความเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่พรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติศิริ ประธานคณะกรรมการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการ ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม ว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการ และต้องทำให้ได้ผลที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงได้ตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะทำหน้าที่ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะกรรมการฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มองประเด็นในการประชุมของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม 3 ประเด็น ที่ฝ่ายค้านยังยืนยันในร่างของตนเองมาโดยตลอด คือ รัฐธรรมนูญที่ดีการแก้ไขได้ยากเป็นเรื่องธรรมดา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำในรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญไม่เหมือนกฎหมายทั่วไป การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ทั้ง 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เพราะมองว่าเป็นการได้มาที่ดีที่สุด และได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยตรง การผ่านวาระ 3 ควรให้ประชาชนลงประชามติ พร้อมยืนยันว่า ร่างของฝ่ายค้านสมบูรณ์ครบถ้วน
ส่วนกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลมองว่า ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนทั้งหมด อาจจะไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น มองว่า ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติเอาไว้โดยอิงจากคุณสมบัติ ส.ส. ทั้งนี้ การจะยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส.ส.ร. ส่วนหนึ่งต้องไปตั้งกรรมการในการยกร่าง โดยมีทั้ง ส.ส.ร. และผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนนำกลับไปให้ ส.ส.ร. พิจารณาทั้งหมดอีกครั้ง
ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว คณะกรรมการฯ ในฐานะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นไม่ตรงกันในชั้นกรรมาธิการฯขณะนี้คือ ส่วนหนึ่งเห็นว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และส่วนหนึ่งถกเถียงกันเรื่องชื่อของรัฐธรรมนูญหากมีการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว ขณะเดียวกันในชั้นกรรมาธิการฯ มีความเห็นตรงกันที่จะไม่ใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 1 ใน 3 ในการโหวตให้ความเห็นชอบในวาระ 3 แต่ยังมีการถกเถียงถึงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบว่าจะใช้เสียงของ ส.ส. จำนวนเท่าใด ซึ่งในส่วนรัฐบาลเห็นว่าควรใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิก แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าควรใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิก นอกจากนี้ในชั้นกรรมาธิการ ยังเห็นพ้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แตะหมวด 1-2 แต่ฝ่ายค้านเห็นว่า การจะแก้ไขในหมวด 1-2 ได้ หากการแก้ไขนั้นจะทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความสมบูรณ์มากขึ้น