เช็คมลพิษอากาศ รับมือป้องกันฝุ่นPM2.5
ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น กรมควบคุมมลพิษในช่วงเช้าวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา เรียกได้ว่า 10% ของพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยบางพื้นที่ทะลุค่าฝุ่นPM 2.5ไป 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ก็เป็นพื้นที่สีส้มมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสีเหลือง สีเขียว สีฟ้าตามลำดับ
วานนี้ (15ธ.ค.) “รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล” หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิด 2 กลุ่ม คือ แหล่งปฐมภูมิ และแหล่งทุติยภูมิ ซึ่งแหล่งปฐมภูมิ ได้แก่ การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งจากควัน โรงงานอุตสาหกรรม ก๊าซ ฝุ่นต่างๆ ในภาคเกษตรกรรม จากไอเสียยานพาหนะ และฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน ฝุ่นปฐมภูมิเป็นฝุ่นที่ทุกคนสร้างขึ้นและอยู่บริเวณพื้นดินของเรา มีก๊าซบางอย่างที่อยู่ในฝุ่นPM 2.5 ปฐมภูมิ เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจนไดออกไซด์ จะลอยขึ้นสูงเหนือระดับพื้นหลายร้อยเมตร ไปทำปฎิกิริยาและกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 ทุตยภูมิ ซึ่งฝุ่นPM 2.5 ทุตยภูมินี้จะมากจะน้อย ขึ้นอยู่กับฝุ่นPM2.5 ปฐมภูมิ
"สภาพฝุ่นในประเทศไทยนั้น มีปริมาณมากมานานกว่า 3-4 ปี แต่ในช่วง3-4 ปี มีการวัดและเห็นจากสภาพอากาศอย่างชัดเจน โดยค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคกลาง จะเห็นฝุ่นเยอะในช่วงปลายเดือนก.ย.และจะมากขึ้นในเดือนธ.ค.ถึง ม.ค.หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลงในเดือนก.พ.และช่วงหน้าร้อนฝุ่นก็จะจางหายไป ส่วนพื้นที่ภาคเหนือจะพบฝุ่นเยอะในช่วงเดือนพ.ย และจะเพิ่มมากขึ้นในก.พ. -พ.ค. เนื่องจากเกิดการสร้างฝุ่นต่างกัน”รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
ภาคกลางจะเกิดจากยานพาหนะ การเผาไหม้ในภาคเกษตรในพื้นที่ภาคกลาง และประเทศเพื่อนบ้าน ฝุ่นสามารถลอยเข้าสู่กรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่ง คือ อากาศในช่วงหน้าหนาว เกิดสภาวะอากาศอัดแน่น ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นต่อหนึ่งหน่วยอากาศเพิ่มมากขึ้น
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อว่าสำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก PM2.5 นั้นคือ ระบบหายใจ เพราะเมื่อสูดฝุ่นเข้าไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองจมูก ตา และผิวหนังได้ และหากใครเป็นโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้จะยิ่งมีอาการมากขึ้น โดยจะมีน้ำมูกมากขึ้น มีอาการไอ เจ็บคอ
ส่วนผู้ที่เป็นโรคหืด หรือโรคถุงลมโป่งพองทำให้เกิดอาการหืดหอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งฝุ่น PM 2.5 จะทำตัวเหมือนควันบุหรี่มีฤทธิ์ระคายเคือง และทำร้ายเนื้อเยื้อบุทางเดินหายใจ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงเกิดปอดอักเสบ ซึ่งรวมถึงโควิด 19 และทำให้เกิดวัณโรคได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เมื่อสูดฝุ่นPM2.5 ไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ มีการศึกษาชัดเจน ว่าจะทำให้การทำงานของสภาพปอดถดถอย
“สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ เด็กและเยาวชนของชาติ เพราะถุงลมปอดจะมีจำนวนถุงลมเต็ม 300 ล้านใบในอายุ 8 ขวบ และหลังจาก 8 ขวบถึง 25 ปี เป็นช่วงที่ถุงลมจะขยายเร็วขึ้น และเพิ่มพื้นที่ในการหายใจ จะสุงสด อายุ 20-25 ปีถ้าเยาวชนของชาติอยู่ภายใต้ปริมาณฝุ่นPM2.5 เป็นเวลานาน ก็จะทำให้สภาพปอดถดถอย โตเป็นเยาวชนที่ปอดไม่แข็งแรง ปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่เท่ากับคนอื่นในพื้นที่ที่มีฝุ่นน้อยกว่าในระยะยาว ฝุ่นPM2.5 จะทำให้ระคายเคือง มีการอักเสบเรื้อรังของสารพันธุกรรมในเซลล์ที่ระบบการหายใจต่างๆ เกิดมะเร็งได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะมะเร็งปอด”รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
นอกจากฝุ่นพิษ PM2.5 แล้ว หากมีปริมาณฝุ่นจิ๋วที่จิ๋วยิ่งกว่า PM2.5 หรือเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20-30 เท่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมโครเมตร เกิดขึ้น จะสามารถเข้าไปในกระแสเลือดได้ ซึ่งเมื่อเข้าไปในกระแสเลือด ก็จะไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงมากๆ โดยเฉพาะหัวใจ จะทำให้คนเป็นโรคขาดเลือดเพิ่มขึ้น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วจะเกิดภาวะหัวใจวายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน คนที่มีโรคหลอดเลือดสมองก็จะทำให้หลอดเลือดสมองขาดเลือดได้ง่ายขึ้น คนที่มีโรคไต ก็จะทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรังได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับ ทารกที่อยู่ในครรภ์ ฝุ่นจะผ่านจากไหลเวียนโลหิตจากมารดาสู่ทารกได้ ทารกคลอดมาแล้วจะมีน้ำหนักตัวน้อย ก็จะเกิดความผิดปกติได้ ขณะเดียวกันคนเมืองที่จ้องหน้าจอมือถือ หรือหน้าจอคอมพ์ทั้งวัน ตาแห้งจากอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว ฝุ่นก็จะทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้มากขึ้น และมีโรคอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับปริมาณฝุ่นPM2.5 ที่เพิ่มขึ้น
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างชาติได้มีการรวมรวบ 500 เมืองใหญ่ทั่วโลก เพื่อเปรียบเทียบปริมาณฝุ่น พบว่า ในปริมาณฝุ่นตั้งแต่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็มีผลกระทบต่อร่างกาย มีประมาณการณ์ว่าทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ยใน 24ชั่วโมง จะทำให้ประชากรเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 0.8%
“ประเทศไทยมีการเตือนภัยของคุณภาพอากาศ ซึ่งในปัจจุบันยังใช้เกณฑ์อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง ถึงจะเตือนภัยประชาชนว่าค่าฝุ่นสูง สภาพอากาศไม่ดีแต่ด้วยสภาพอากาศตอนนี้ ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทบทวนการเตือนภัย เพราะจะมีเตือนระดับสีส้ม จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่พอ ต้องเปลี่ยนเป็นระดับสีส้มมาเป็น 37.5 หรือ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่สีแดง ซึ่งถ้าพื้นที่ไหนในประเทศไทยเป็นพื้นที่สีแดงติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน จะต้องมีการประกาศหยุดเรียน ให้ทำงานที่บ้านและการเตือนภัยสีแดง จากเดิม 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเตือน ควรลดให้เหลือค่าฝุ่น 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ต้องเตือนประชาชนในพื้นที่นั้นแล้ว รวมถึงควรมีการเพิ่มสีม่วง หรือสีเลือดหมูเหมือนต่างประเทศ เพื่องดการออกนอกบ้าน ลดปริมาณยานพาหนะ และกิจกรรมกลางแจ้ง ”รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
วันนี้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง และดูแลตัวเอง อาทิ การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยให้ฝุ่นขับออกจากปัสสาวะได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากฝุ่นได้ การปลูกพืชสีเขียวดูดซับปริมาณฝุ่นได้ ถ้าไม่ออกกลางแจ้งอยู่ในบ้านต้องปรับสภาพพื้นที่ในบ้านให้ห้องกันฝุ่น
ขณะที่ภาครัฐ ควรมีการรณรงค์ให้ใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น และควรควบคุมโรงงาน เลื่อนการก่อสร้างในช่วงเวลาฝุ่นที่ขึ้นสูง และประชาชนที่ต้องออกไปทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานกวาดถนน ตำรวจจราจร ควรจัดหาปริมาณหน้ากากให้เพียงพอ นอกจากนั้น ต้องแจ้งเตือนค่าฝุ่นเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมต่างๆ ควรแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าสังเคราะห์ และหน้ากากN95 เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานกวาดถนน ตำรวจจราจร เป็นต้น