เภสัชฯ จุฬาฯ เคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม

เภสัชฯ จุฬาฯ เคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม

คณะเภสัชฯ จุฬาฯ ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม เดินหน้าปั้นสตาร์ทอัพ วิจัยนวัตกรรม บูรณาการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ดันงานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง ตอบโจทย์ความต้องการประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ

วันนี้ (18 ธันวาคม) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “ก้าวเล็ก... ฝันใหญ่ ... Go Phar Together สู่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องประชุม ตึกนวัตกรรม ชั้น 10 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและความสำเร็จของผลงานนวัตกรรมต่างๆ จาก บริษัทซียูฟาร์มาซีเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Pharmacy Enterprise) หรือ CUPE) 

160827149157

ทั้งนี้ บริษัทซียูฟาร์มาซีเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Pharmacy Enterprise) หรือ CUPE คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้งขึ้นภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหน้าที่รองรับการสร้างและพัฒนานวัตกรรมทางเภสัชกรรม วางรากฐานและยกระดับระบบนิเวศการวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและภาคธุรกิจให้เข้มแข็ง นำองค์ความรู้ใหม่ไปต่อยอดเพื่อให้ความรู้นั้นสามารถนำมาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้ยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเชิงพาณิชย์จากการพัฒนางานวิจัยไปสู่นวัตกรรมใหม่ (Start Up) CUPE ได้รับการจดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 จากการดำเนินงานมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ได้มีการจัดตั้งบริษัท Start-up ในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางสุขภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง 

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovations for Society) โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้านคือ การสร้างผู้นำแห่งอนาคต ให้การสนับสนุนคณาจารย์ นักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบสูงต่อสังคม (Impactful Research & Innovation) และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainability)  

160827149020

จุฬาฯ ได้จัดตั้งบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) ที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพของจุฬาฯ  จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) ในการสร้างนวัตกรและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมไทยเป็นที่ประจักษ์ เช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทย ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือผลิตภัณฑ์ “ไฟท์ฝุ่น สเปรย์” (PhytFoon Spray)  สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CU Pharmacy Enterprise กับภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนในการต่อยอดงานวิจัยไปใช้งานจริงสู่สังคมไทย

"การบริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความสมดุล งานวิจัย ต้องตอบโจทย์ เป็นที่ต้องการตลาด มีความต้องการ และมีความรวดเร็ว หากช้าจะไม่ทันตลาดวายหมด เช่น วัคซีน หากวัคซีนช้าเกินไป คนอื่นจะครองหมดและเราจะแทรกตัวยาก ดังนั้น เป้าหมายคือ งานวิจัยของไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาชน ทำให้บ้านเราพึ่งพาเทคโนโลยีตนเอง เภสัชกรไม่ใช่แค่เพียงจ่ายยา แต่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ เป็นก้าวเล็ก แต่เกิดผลใหญ่ เป็นฝันที่เป็นจริง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม" อธิการบดีจุฬาฯ

160827149025

ด้าน ดร.เภสัชกรหญิงบุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ และ บริษัท จุฬาฯ ฟาร์เทค จำกัด กล่าวว่า CUPE มีบทบาทให้การสนับสนุนและบ่มเพาะงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของสังคม เป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาแก้ปัญหาสังคมไทยและสังคมโลกจนเป็นที่ประจักษ์ นอกเหนือจากงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านสุขภาพที่ได้พัฒนาโดยคณาจารย์ นักวิจัยจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัท แนบโซลูท จำกัด และบริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ยังมีงานทางด้านบริการวิชาการภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและการตรวจวิเคราะห์เซลล์สัตว์ทดลอง นอกจากนี้ CUPE ยังให้โอกาสในการสร้างงานแก่นิสิตที่จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ ในการได้ปฏิบัติงานร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

  • PhytFoon Spray

ทั้งนี้ ตัวอย่างงานวิจัยจากคณะเภสัชฯ จุฬาฯ ที่ได้รับการต่อยอดสู่การวางขายจริง อาทิ “ไฟท์ฝุ่น สเปรย์” (PhytFoon Spray) สเปรย์กันฝุ่น PM2.5 โดย บริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด สตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะขององค์กรที่รวบรวมนวัตกรรมทางสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Pharmacy Enterprise) และ โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ที่สามารถใช้ได้ในอาคาร ที่อยู่อาศัย หรือในบริเวณพื้นที่ปิด เช่น ในบ้าน สำนักงาน รถยนต์ ฯลฯ สามารถลดปริมาณ PM2.5 ได้กว่า 80% 

160827149034

นวัตกรรมดังกล่าว ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในโครงการ Leaders in Innovation Fellowships Programme (LIF) ประจำปี 2563 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ Newton Fund และ The Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร พร้อมกับได้ร่วมมือกับภาคเอกชน บริษัท เพนทา อินโนเทค จำกัด ในการหยิบงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การวางจำหน่ายจริง และเตรียมขยายตลาดไปยังต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และจีน

  • Shield+: Protecting Spray

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรม Shield+: Protecting Spray โดย บริษัท แนบโซลูท จำกัด นักวิจัยจาก CU Innovation Hub สเปรย์หน้ากากผ้ากรองฝุ่น ป้องกันไวรัส ช่วยเพิ่มระสิทธิภาพการกรองหน้ากากผ้า ช่วยลดขยะที่เกิดจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ใช้หน้ากากแบบผ้าให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมีการผลิตคิดค้นออกมา 2 ชนิด ได้แก่ Shield (ไม่กันน้ำ) เริ่มจากการคลี่มุมพับหรือกางตะเข็บของหน้ากากออก ฉีดสเปรย์บริเวณด้านหน้าของหน้ากากผ้าให้ทั่วประมาณ 12-15 ครั้ง จากนั้นนำไปตากให้แห้งสนิทก็สามารถนำไปใช้ได้ และ Shield+ (กันน้ำ) จะต้องรีดด้วยเตารีดให้แห้งสนิทก่อน จึงจะเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำได้

160827149192

ผศ.เภสัชกรหญิง ดร.จิตติมา ลัคนากุล ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สเปรย์ตัวแรกที่พัฒนาคือเปรย์สีใส ซึ่งเป็นผลงานวิจัยในช่วง PM 2.5 มีปัญหาอย่างหนัก ก่อนช่วง COVID-19 โดยใช้พอลิเมอร์ในเภสัชภัณฑ์มาประยุกต์และผสมเพื่อให้เกิดกลไกที่หลากหลาย ทำให้พอลิเมอร์เข้าไปแทรกตัวและสอดประสานเส้นใยของผ้า ลดช่องว่างระหว่างเส้นใยผ้าให้เล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นได้ดีขึ้น ช่วยผลักฝุ่นและเชื้อโรคออกไปได้อีกด้วย

160827310261

โดย 1 ขวดมีปริมาณ 60 มิลลิลิตร สามารถใช้ได้ 24 ครั้งหรือโดยเฉลี่ย 1 เดือน สามารถใช้ได้ทุกวัน ซึ่งพอลิเมอร์ที่เคลือบอยู่บนหน้ากากผ้าจะละลายไปในขณะซัก อาจจะมีหลงเหลือบนผ้าบางส่วนสำหรับ Shield+ แต่ก็ยังคงปลอดภัยต่อผู้ใช้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่ใช้ในเภสัชภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พร้อมกันนี้ มีการจับมือกับ Tigerplast ผู้เชี่ยวชาญในสินค้าเวชภัณฑ์ ดันงานวิจัย สู่การวางขายจริงแล้วในขณะนี้