สำรวจตลาด 'แรงงานไทย' รับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปหลังยุคโควิด-19
เปิดผลสำรวจตลาด "แรงงานไทย" สะท้อนโลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังยุคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในหลายด้าน ทั้งความต้องการแรงงาน ตลอดจนรูปแบบการทำงาน และการสัมภาษณ์งานที่เปลี่ยนแปลงไป
"จ๊อบไทย" (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ ชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานในหลายด้าน ทั้งความต้องการแรงงาน ตลอดจนรูปแบบการทำงาน และการสัมภาษณ์งานที่เปลี่ยนไป สำหรับสถานการณ์ในตลาดแรงงานจากข้อมูลความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม พบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 รวมกันอยู่ที่ 346,357 อัตรา (เป็นการนับจำนวนอัตราแบบไม่ซ้ำกัน)
จ๊อบไทยยังเปิดเผยข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปในยุค Post COVID-19 Pandemic จากคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 7,548 คน และสำรวจความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศจำนวน 1,019 องค์กร พบว่า ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์มีผู้ที่ได้ทำงานที่บ้านเพียง 34.1% และผู้ที่ไม่ได้ทำงานที่บ้าน 65.9% สำหรับผู้ที่ได้ทำงานที่บ้านระบุข้อดีของการทำงานที่บ้านว่า ทำให้เขามีโอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการเมืองในองค์กรได้ มีช่วงเวลาในการทำงานนานขึ้นกว่าการทำงานในออฟฟิศ และยังสามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานดีกว่าในออฟฟิศ
- องค์กรยกเลิกสวัสดิการ เหตุจากโควิด-19
สำหรับองค์กรนั้นมีการปรับเปลี่ยนสวัสดิการหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีการเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (Work From Home / Remote Working) มากที่สุด เพิ่มสวัสดิการเวลาทำงานสามารถยืดหยุ่นได้ (Flexible Hours) และสวัสดิการเงินกู้ยืม
ส่วนสวัสดิการที่ถูกยกเลิก ได้แก่ กิจกรรมสันทนาการ เช่น งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ ท่องเที่ยวประจำปี การให้โบนัส และเงินรางวัลประจำปี /รางวัลพนักงานดีเด่น เป็นต้น
ขณะที่อุปสรรคในการทำงานของฝั่งองค์กรที่พบมากที่สุด คือ การสรรหาและว่าจ้างพนักงานใหม่ การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน การดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับพนักงาน การสื่อสารภายในองค์กร และการสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรให้กับพนักงาน ตามลำดับ
จากการสัมภาษณ์องค์กรเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า องค์กรที่ให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) มีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เนื่องจากองค์กรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น การประชุมออนไลน์ (Video Conference) ทั้งกับบุคคลภายในและภายนอก ทำให้คนทำงานต้องเกิดการปรับตัว การเรียนรู้ เลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ลดการใช้เอกสารแบบกระดาษ ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) ขององค์กร
นอกจากนี้ จ๊อบไทยยังได้สำรวจเรื่องค่าตอบแทนของพนักงานในปี 2564 พบว่า องค์กรส่วนใหญ่มีแผนปรับขึ้นเงินเดือนตามโครงสร้างปกติ 48.2% องค์กรที่มีแผนปรับเงินเดือนแต่จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ 28.9% องค์กรที่จะไม่มีการปรับเงินเดือน 18.1% องค์กรที่ยังไม่ได้สรุปนโยบาย 3.2% และองค์กรที่ปรับลดเงินเดือนของพนักงานลง 1.6%
- ธุรกิจท่องเที่ยวว่างงานสูงสุด
ผู้ตอบแบบสอบถามฝั่งคนทำงานแบ่งเป็นผู้มีงานทำ 62.7% ผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 23.7% อีก 13.6% เป็นผู้ว่างงานที่เกิดจากเหตุผลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มผู้ว่างงานที่เกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 เป็นผู้ที่ทำงานในประเภทธุรกิจการบริการ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจการขายปลีก ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนคนมีงานทำกับคนว่างงานที่ทำงานในประเภทธุรกิจเดียวกัน พบว่าประเภทธุรกิจที่มีผู้ว่างงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูงสุดคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมีสัดส่วนผู้ว่างงานที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 สูงถึง 71.9%
- พนักงาน 81% มองหางานใหม่ปีหน้า
การสำรวจแผนการหางานใหม่ในปี 2564 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีงานทำ พบว่า มีผู้ที่จะหาใหม่อย่างจริงจัง 26.4% ไม่ได้หาอย่างจริงจังแต่เปิดโอกาสสำหรับงานใหม่ 55.4% และมีเพียง 18.2% ที่คิดว่าจะไม่หางานใหม่
สำหรับสาเหตุที่พนักงานต้องการเปลี่ยนงาน อันดับหนึ่ง ไม่พึงพอใจเรื่องเงินเดือน อันดับสอง ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน อันดับสาม ไม่พึงพอใจเรื่องสวัสดิการ อันดับสี่ ไม่พึงพอใจเรื่องวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมขององค์กร อันดับห้า งานที่ทำไม่มีความท้าทาย
ส่วนปัจจัยที่ทำให้อยากทำงานในองค์กรเดิม อันดับหนึ่ง มีเพื่อนร่วมงานที่ดี อันดับสอง การเดินทางสะดวก อันดับสาม เงินเดือนเป็นที่พึงพอใจ อันดับสี่ มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี อันดับห้า มีสวัสดิการที่ดี
สำหรับคนทำงานที่ไม่มีแผนเปลี่ยนงาน ปัจจัยที่จูงใจให้อยากเปลี่ยนงาน อันดับหนึ่ง เงินเดือนสูงขึ้น อันดับสอง สวัสดิการดีขึ้น อันดับสาม ตำแหน่งงานก้าวหน้าขึ้น อันดับสี่ การเดินทางสะดวกขึ้น อันดับห้า มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
- คนหางานเร่งเพิ่มสกิลการสมัครงาน
การสำรวจคนทำงานเกี่ยวกับการหางานในช่วงนี้ พบว่า มีคนหางานที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน 47.3% ซึ่งสายงานที่คนต้องการเปลี่ยนไปทำมากที่สุดเป็นสายงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะ
ในช่วงที่ว่างงาน คนหางาน 54.1% เลือกเรียนออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการแข่งขัน โดยอันดับหนึ่ง เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวหางาน สมัครงาน อันดับสอง ภาษาต่างประเทศ อันดับสาม การเงิน การลงทุน
เมื่อสอบถามถึงความกังวลในการหางานใหม่ อันดับแรกที่กังวล คือ เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ 72.6% อันดับที่สอง กังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงขึ้น 66.3% อันดับสาม กังวลเรื่องความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศไม่เพียงพอ 59.9% อันดับสี่ ทักษะความสามารถของตนเองอาจมีไม่เพียงพอ 56.9% และอันดับห้า กังวลว่าประสบการณ์ในการทำงานไม่เพียงพอต่อการสมัครงานใหม่ 55.7%
สำหรับซอฟต์สกิล (Soft Skills) ที่องค์กรมองหาจากคนทำงานหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า อันดับหนึ่ง ความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ 49.6% อันดับสอง ความสามารถในการทำงานเชิงรุก (Proactive) 49.1% อันดับสาม การจัดลำดับความสำคัญของงาน 47.6% อันดับสี่ การสื่อสารและการถ่ายทอดข้อมูล 45.3% และอันดับห้า การบริหารเวลา 44.0%
- นักศึกษาจบใหม่หวั่นตกงาน
ด้านนักศึกษาจบใหม่ที่จบการศึกษาในปีนี้มีปัญหาการว่างงานสูง และต้องเจอกับสภาวะการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงขึ้น จ๊อบไทยจึงสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาจบใหม่ที่ยังว่างงานและกำลังหางานทำอยู่จำนวน 1,496 คน พบว่า นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานได้หางานมาเป็นเวลา 1-3 เดือน 44.0% หางานมาเป็นเวลา 4-6 เดือน 31.9% และหางานน้อยกว่า 1 เดือน 9.8%
โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการเรียกสัมภาษณ์งาน 36.2% กลุ่มที่ได้รับการสัมภาษณ์แล้วแต่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน 35.4% จากการสอบถามในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ทั้งหมดว่าต้องการจะทำงานอยู่ในองค์กรแรกประมาณกี่ปี พบว่า นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานในองค์กรแรกประมาณ 1-3 ปี 65.5% 3-5 ปี 12.7% ไม่เกิน 1 ปี 11.2% และ 5 ปีขึ้นไป 10.7%
นอกจากนี้ นักศึกษาจบใหม่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิตหลังเรียนจบดังนี้ อันดับหนึ่ง กังวลว่าจะหางานทำไม่ได้ อันดับสอง กังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำจะทำให้บริษัทไม่จ้างงานเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน อันดับสาม กังวลเรื่องรายได้จะไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ อันดับสี่ กังวลว่าจะได้งานที่ไม่ตรงกับความต้องการ อันดับห้า กังวลเรื่องหัวหน้าเเละเพื่อนร่วมงานจะไม่ดี
จุดมุ่งหมายที่นักศึกษาจบใหม่มีในการทำงาน อันดับหนึ่ง ได้ทำงานที่มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี 83.6% อันดับสอง มีโอกาสได้พัฒนาทักษะและเติบโตในหน้าที่การงาน 82.6% อันดับสาม ได้มีเพื่อนร่วมงานที่ดี 61.1% อันดับสี่ ได้ทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ดี 58.0% และอันดับห้า ได้ทำงานที่ตนเองรัก 53.4%
เมื่อถามถึงทักษะที่นักศึกษาจบใหม่คิดว่าตัวเองมี อันดับหนึ่ง ความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ อันดับสอง ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น อันดับสาม ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น อันดับสี่ ทักษะในการใช้งานเทคโนโลยี อันดับห้า การบริหารเวลา
เมื่อจ๊อบไทยสำรวจความคิดเห็นขององค์กรเกี่ยวกับทักษะที่องค์กรใช้พิจารณานักศึกษาจบใหม่เข้าร่วมงาน พบว่าสอดคล้องกับทักษะที่นักศึกษาจบใหม่คิดว่าตัวเองมี คือ อันดับหนึ่ง ที่องค์กรจะพิจารณาคือความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ อันดับสอง ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น อันดับสาม การสื่อสาร และการถ่ายทอดข้อมูล อันดับสี่ ความคิดสร้างสรรค์ อันดับห้า ความสามารถในการวิเคราะห์ ประเมิน และวิพากษ์สิ่งต่าง ๆ
สำหรับสายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่มากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ อันดับหนึ่ง งานขาย อันดับสอง งานช่างเทคนิค อันดับสาม งานบริการลูกค้า อันดับสี่ งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ อันดับห้า งานวิศวกรรม
- นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย -
นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย แสดงมุมมองต่อตลาดแรงงานและการหางานว่า จากการระบาดของโควิด-19 ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวซึ่งส่งผลกระทบกับการจ้างงาน จะเห็นได้ว่าในช่วงที่มีการระบาดหนักและล็อกดาวน์ องค์กรต่าง ๆ ออกมาตรการที่จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เช่น การปลดพนักงาน การลดสวัสดิการ นอกจากนี้ อัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงกว่าปีก่อน และจำนวนผู้ว่างงานในตลาดแรงงานมีมากขึ้น ส่งผลให้การสรรหาบุคลากรนั้นมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเว็บไซต์หางานเป็นช่องทางที่องค์กรและคนหางานนิยมใช้มากที่สุด
อีกหนึ่งอย่างที่กระทบกับองค์กรโดยตรงคือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากรูปแบบการทำงานไม่สามารถเข้าไปทำงานด้วยกันได้เหมือนก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปรับเปลี่ยนสวัสดิการไปตามข้อจำกัดของสถานการณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับความรู้สึก และความเป็นอยู่ในองค์กรของพนักงาน หลังจากนี้องค์กรจะมีวิธีการอย่างไรที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กร และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ทำให้พนักงานรับรู้และเข้าใจค่านิยมขององค์กร (Core Value) ให้พนักงานมีประสบการณ์ที่ดีเหมือนที่เคยเป็นมา และสามารถสร้างแบรนด์ภาพลักษณ์องค์กร (Employer Branding) ที่ดี ดึงดูดคนให้เข้ามาสมัครกับองค์กรได้ เป็นเรื่องที่องค์กรอาจจะต้องกลับมาพิจารณาและกำหนดแนวทางการทำงานกันใหม่
ส่วนคนหางาน สมัครงาน มีการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน คนหางานต้องปรับตัวพร้อมรับกับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน จะมีโอกาสได้งานมากขึ้นถ้าสามารถสร้างจุดเด่นให้ตัวเองน่าสนใจ เช่น การทำเรซูเม่ (Resume) ควรมีการปรับข้อมูลเพื่อนำเสนอตัวเองให้เข้ากับตำแหน่งงานและองค์กรที่เราสมัครมากขึ้น ในการสัมภาษณ์งานควรวางตัวพูดคุยแบบมืออาชีพ และอธิบายถึงประสบการณ์ที่เรียนมาว่าจะสามารถนำไปปรับใช้กับตำแหน่งงานที่สมัครได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้การเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนเป็นอีกทางที่ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานมากขึ้นได้
"เราจะเห็นว่า โลกการทำงานมีการเปลี่ยนอยู่เสมอ คนทำงานการต้องพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ พัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านภาษา ด้านเทคโนโลยี และซอฟต์สกิล (Soft Skills) เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถให้กับตัวเองอยู่เสมอ" นางสาวแสงเดือน ปิดท้าย