ศาลสั่ง 'ดวงกมล-สุพจน์' จ่าย 36 ล้าน ฐานตกแต่งบัญชีเนชั่น
ศาลแพ่งพิพากษาให้ “ดวงกมล-สุพจน์” อดีตผู้บริหารเนชั่นชดใช้ 36 ล้านบาท กรณีตกแต่งบัญชีปั้นรายได้เทียม ส่วน "เสริมสิน" รอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ พ.568/2562 ซึ่ง บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) เป็นโจทก์ฟ้องนายเสริมสิน สมะลาภา จำเลยที่ 1 นางสาวดวงกมล โชตะนา จำเลยที่ 2 และนายสุพจน์ เพียรศิริ จำเลยที่ 3 ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น โดยผู้รับมอบฉันทะทนายโจทก์ และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล
ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบมูลแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2561 และฟ้องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ฟ้องภายใน 1 ปี ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่งประเด็นจำเลยทั้งสามทำละเมิดหรือไม่ ซึ่งศาลแยกวินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นรายบุคคล
จำเลยที่ 1 นายเสริมสิน สมะลาภา ศาลวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นผู้สั่งการโดยตรงในการให้ฝ่ายขายลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริง และอำนาจหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ต้องเซ็นรับรองงบการเงินของโจทก์นั้น เป็นทางปฏิบัติของบริษัทหรือนิติบุคคลโดยทั่วไปที่จำเลยที่ 1 จะต้องเซ็น จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการเซ็นชื่อรับรองงบการเงินนั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิด และไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยอื่น
จำเลยที่ 2 นางสาวดวงกมล โชตะนา ศาลวินิจฉัยว่า ปรากฏในทางนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการสั่งการโดยตรง ในการให้ฝ่ายขายลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริง เป็นผู้บริหารที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย Togo อีกทั้งยังปรากฏอีเมล์ที่เป็นการติดตามผลการดำเนินงานจากฝ่ายขายอีกด้วย จำเลยที่ 2 รู้รายละเอียดขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของโจทก์เป็นอย่างดี ศาลจึงเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อสร้างรายได้เทียมและตกแต่งบัญชีของโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ร่วมทำละเมิดโจทก์
จำเลยที่ 3 นายสุพจน์ ศาลวินิจฉัยว่า ปรากฏในทางนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 สอนวิธีการลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริงให้แก่ฝ่ายขาย ทั้งๆที่ตนเป็นนักบัญชีย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า การลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริงนั้นไม่ถูกต้องตามหลักการตามทางบัญชี และจำเลยที่ 3 ยังเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างผู้บริหารโจทก์และฝ่ายขาย ในเรื่องที่เกี่ยวกับรายได้ค้างรับ ดังนั้น จำเลยที่ 3 ร่วมทำละเมิดโจทก์
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งในบริษัทโจทก์มีระยะเวลาที่แตกต่างกัน ศาลจึงเห็นควรกำหนดสัดส่วนในการรับผิดในความเสียหายตามที่โจทก์ขอมา โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิด 48% ของค่าเสียหายในแต่ละส่วน และจำเลยที่ 3 รับผิด 52% ของค่าเสียหายแต่ละส่วน ดังนี้
ค่าว่าจ้าง KPMG เห็นว่า KPMG เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทโจทก์มาเป็นเวลานาน ทั้งมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง แต่ตรวจสอบไม่เจอความผิดปกติตั้งแต่แรก ดังนั้น ศาลจึงปรับลดให้ค่าเสียหายข้อนี้ จาก 1,600,000 บาท ให้เหลือ 800,000 บาท
ค่าปรับที่จ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ค่าปรับที่จ่ายให้ ก.ล.ต.ส่วนแรก 1,135,200 บาท ศาลให้จ่ายเต็มจำนวน ส่วนที่สอง 985,500 บาท ปรับลดให้เหลือ 5 แสน
ค่าปรับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 16,000 บาท ค่าปรับกรมสรรพากร 4,000 บาท
นอกจากนี้ค่าเสียหายที่จ่ายเงินปันผลสูงเกินที่ต้องจ่าย ศาลเห็นว่า การที่โจทก์จ่ายเงินปันผลผิดไปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการกระทำของจำเลยที่ 2 และ 3 แต่ฝ่ายขายก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย จึงปรับลดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จาก 57 ล้านบาท ให้เหลือ 34 ล้านบาท
ส่วนค่าว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมาย ศาลเห็นว่า โจทก์ได้ตั้งคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงหาผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว การว่าจ้างที่ปรึกษาฯ นั้นเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์เองเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีค่าทนายความอยู่แล้ว ดังนั้น ค่าเสียหายในส่วนนี้ศาลไม่ให้ (ตามที่ขอมา 1,907,870.99 บาท)
ศาลจึงมีพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 36,533,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นเงิน 17,535,840 บาท และให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นเงิน 18,997,160 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
นางสาวดวงกมล เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป ส่วนนายสุพจน์ เพียรศิริ เป็นอดีตกรรมการ และผู้อำนวยการสายการเงิน บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป