“เคอรี่” หรือ “ไปรษณีย์” พลิกเกมธุรกิจส่งด่วน
การเข้าตลาดหุ้นของยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX สร้างแรงส่งต่อสมรภูมิการแข่งขันในตลาด “ส่งด่วน” ลูกใหญ่ด้วยธุรกิจมีการคับเคี่ยวและช่วงชิงพื้นที่การตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
จนทำให้อันดับ 1 และอันดับ 2 หิ้งห่างกันไม่กี่ก้าว
ผู้เล่นในตลาดสำคัญและเป็นรายใหญ่ที่กินส่วนแบ่งในตลาดมีจำนวนมาก และยังมีอีกรายเจ้าที่อยากจะกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ ซึ่งข้อมูล EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าปี 2563 ธุรกิจขนส่งด่วนจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4,000,000 ชิ้นต่อวัน หากมีการจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ จะส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 1,000,000 ชิ้นต่อวัน
เมื่อเทียบมูลค่าตลาดแล้วจากปี 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าปี 2563 จะอยู่ที่ 66,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 34 % แต่หากย้อนไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดนี้มีการเติบโตที่ไม่ธรรมดาเพราะไม่เคยต่ำกว่า 35 % ยิ่งมีสถานการณ์โควิด-19 ทั้งระลอก 1 และ 2 ในหลายประเทศรวมทั้งไทย ทำให้ตลาดดังกล่าวยังเป็นโอกาสให้รายเดิมและรายใหม่เข้ามาช่วงชิงเม็ดเงิน
จากการวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจดังกล่าวสามารถแบ่งกลุ่มที่มีส่วนแบ่งการตลาด 80 % อันดับ 1. คือไปรษณีย์ ไทย 41% อยู่คู่คนไทยมานานถึง 137 ปี รัฐวิสาหกิจที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงและถูกดีสปรับชั่นจนปรับตัวฝ่าวิกฤติมาได้ จนสามารถปรับตัวเองเข้าสู่การให้บริการที่รวดเร็วและครอบคลุมจุดให้บริการมากกว่า 8,000 จุด และยังมีจุดแข็ง “บุรุษไปรษณีย์ “ ที่เข้าถึงทุกครัวเรือน
อันดับ 2. คือ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส 39% รายใหญ่จากมาเลเซียแต่ไปเติบโตในฮ่องกงก่อนจะกระจายปักหมุดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ด้วยจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง
พร้อมศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง กระจายในกลุ่มลูกค้าในกลุ่มภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบบุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C) ภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) และภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจ-ส่งถึง-ธุรกิจ (B2B)
ปี 2563 (ช่วง 9 เดือนเเรก) จัดส่งพัสดุรวมทั้งหมด 223.9 ล้านชิ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมมาซื้อของออนไลน์ สามารถจัดส่งพัสดุจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ที่สำคัญยังมีบริการ “เก็บเงินปลายทาง” รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉลี่ย6,500 ล้านบาทต่อเดือน มีอัตราพัสดุตีกลับราว 1.5%
ล่าสุดเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น 24 ธ.ค. นี้ด้วยการประกาศราคาขายหุ้น IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น ที่ราคา 28.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย สามารถระดมเม็ดเงินในครั้งนี้ 8,400 ล้านบาท คาดมีมูลค่ามาร์เก็ตแคป 4 หมื่นกว่าล้านบาท
เม็ดเงินหลักจะนำไปไปขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วน ลงทุนในระบบการขนส่ง และพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน ส่วนอันดับ 3.ในตลาดคือ คือ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส 8% อันดับ 4. คือ นิ่ม เอ็กซ์เพรส 3%อันดับ 5. ดีเอช แอล 2%
และอื่นๆ 7% อาทิ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ที่ร่วมทุนกับ ยามาโตะ หรือ แมวดำ บริษัทขนส่งรายใหญ่ของญี่ปุ่น หรือจะเป็น ดีเอชแอล จากเยอรมันนี นิ่มซี่เส็ง ขนส่งรายใหญ่จากภาคเหนือก็มีแบรนด์ นิ่ม เอ็กซ์เพรส นครชัยแอร์ ก็มีบริการส่งพัสดุด่วน เอ็นซีเอ เอ็กซ์เพรส หรือ สปีดดี ของเซเว่นอีเลฟเว่น เข้ามาร่วมด้วย
เมื่อโฟกัสแผนธุรกิจของ เคอรี่ ต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเพื่อลดต้นทุน และแผนการในอนาคตกับการขยายไปยังตลาอื่นเช่น จัดส่งแบบจุดต่อจุด ( point to point) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรหลักทั้งที่ถือหุ้นใหญ่ 23 % บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสริมบริการจัดส่งสินค้าจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปแล้ว ซึ่งกลุ่มบีทีเอส ถือว่ามีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้บริการ ส่งด่วน ทั้งอาร์เอส (RS) คอมเซเว่น (COM7)
ยังรวมไปถึงพันธมิตร กลุ่มเซ็นทรัล ผ่านแฟมิลี่ มาร์ท บีทูเอส ท๊อปส์ เดลี่ ที่มีการเปิดทางให้มีจุดบริการ ซึ่งจุดเด่นของกลุ่มเซ็นทรัลคือการมีช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่แข็งแกร่ง ผ่าน ออมมิชาแนล หากมีการจับมือกันเพิ่มมากขึ้น ผู้นำวันนี้อาจจะกลายเป็นผู้ตามในอนาคตได้