ยูเอ็นหวั่นขาดแคลนอาหาร ถกผู้นำโลกหันผลิตที่ยั่งยืน
ยูเอ็น เตรียมประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารอย่างยั่งยืน หลังโควิดทำคนขาดแคลนอาหารกว่า132 ล้านคน หลังพบวิกฤติโควิดทำคนอดอยากเหตุการผลิต ขนส่ง และขาดแคลนแรงงานทำผลผลิตการเกษตรเสียหาย
นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟ เอ โอ) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรค โควิด 19 ทำให้ สหประชาชาติ(ยูเอ็น) มีความกังวล เรื่องความไม่เพียงพอของอาหารจะเกิดเร็วขึ้น บางประเทศเข้าสู่ภาวการณ์ขาดแคลนอาหารแล้ว ขณะที่หลายประเทศที่มีภูมิประเทศแบบปิด ประสบปัญหาการขนส่งอาหารที่ชะงักงันในช่วงล็อกดาวน์ สิ่งนี้กำลังสะท้อนว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังมีจุดอ่อนด้านการผลิตอาหารที่เพียงพอ
ดังนั้น ยูเอ็น จึงเรียกร้องผู้นำทั่วโลก สร้างความเข้มแข็งระบบผลิตอาหาร” เพื่อเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระดับผู้นำระบบอาหารโลก ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความมั่นคงอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021 - What will we need to prepare ourselves in Thailand? Impacts of COVID-19 on food systems, food security and nutrition.)
โดยจะประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก และการประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารอย่างยั่งยืน (Transforming to Sustainable Food Systems) ระบบอาหารที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
เบื้องต้นได้หารือการเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตอาหารในระดับประเทศ หรือ National Food Systems Summit Dialogues เพื่อให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่าย/สถาบันเกษตรกร สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสสะท้อนถึงมุมมอง และบทเรียนต่างๆ ว่าระบบอาหารของแต่ละประเทศ หรือของประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่ละประเทศหรือประเทศไทยมีจุดแข็ง-จุดอ่อนตรงไหน แต่ละประเทศมีเรื่องราวประสบการณ์ดีๆด้านใดที่จะแบ่งปันกับสังคมโลก (Best practice) เพื่อร่วมกันสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น.
ทั้งนี้ การประชุม UN Food Systems Summit ได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน ออกเป็น 5 ด้าน (Action Tracks) คือ1.การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ (Ensuring access to safe and nutritious food for all) เพื่อให้ทุกคนได้รับโภชนาการที่ครบถ้วนสมบูรณ์
2. การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน (Shifting to sustainable consumption patterns) เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และลดขยะอาหาร
3. การส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Boosting nature-positive production at sufficient scales) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รักษาสมดุลระบบนิเวศน์ และลดการสูญเสียอาหาร
4.การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาคและการกระจายความเท่าเทียม (Advancing equitable livelihoods and value distribution) เพื่อสร้างงาน กระจายรายได้ และพัฒนาอย่างทั่วถึง และ5. การสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤติเพื่อลดกระทบในด้านต่างๆ (Building resilience to vulnerabilities, shocks, and stress) เพื่อเสริมสร้างระบบอาหารอย่างยั่งยืน และสามารถรับมือปรับตัวได้ในทุกภาวะวิกฤติ และแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
“ปัจจุบันทั่วโลกยังมีคนอดอยาก ขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤติโควิด มากกว่า 132 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ประชากรบางส่วนต้องบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพ แถบยุโรปบางประเทศที่ต้องนำเข้าแรงงานเก็บผลผลิตทางเกษตร"
นอกจากนี้้ ยังมีประเด็นผลผลิตเสียหายในช่วงล็อกดาวน์ เพราะไม่มีแรงงานเข้ามาเก็บผลผลิตทำให้เน่าเสียและไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันการขนส่งอาหารที่ต้องหยุดชะงัก แม้แต่ไทยที่มีความเข้มแข็งเรื่องระบบแปรรูปอาหารได้รับผล
กระทบหนัก วิกฤติโรคระบาด และภัยธรรมชาติตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ต้องถูกนำเป็นบทเรียนสร้างระบบอาหารของประเทศ และโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น