ร.ฟ.ท.ลุยเวนคืนไฮสปีด “ซีพี” บริหารแอร์พอร์ตลิงก์
สกพอ.เดินหน้าเมกะโปรเจค “อีอีซี” ปี 2564 ลุยส่งมอบพื้นที่รถไฟความเร็วสูง-เมืองการบิน เตรียมความพร้อมพัฒนามักกะสัน ร.ฟ.ท.เร่ง “ซีพี” แจงข้อมูลย้ายสถานีไฮสปีด เดินหน้าเวนคืนที่ดิน ส่งมอบพื้นที่ช่วงแรก ต.ค.64
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงที่ผ่านมาได้เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยลงนามร่วมลงทุนไปแล้ว 3 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (สกพอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีก้าวหน้าตามที่วางแผนไว้ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภา โดยไตรมาส 1-2 ปี 2564 จะเริ่มส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงให้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ช่วงลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา เพื่อเริ่มก่อสร้างทางรถไฟและสถานี โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อรื้อย้ายสิ่งกีดขวางออกและจ่ายเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน
ส่วนช่วงกรุงเทพฯ แม้ส่งมอบที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภคไม่ได้ทั้งหมด แต่ในปี 2564 จะเห็นการดำเนินงานของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ที่มีประสิทธิภาพและการบริการที่รวดเร็วขึ้น เพราะเอกชนจะเริ่มมาบริหารงานและเพิ่มขบวนรถมากขึ้นทำให้ความถี่ในการให้บริการประชาชนทำได้ดีขึ้น โดยให้บริการผู้โดยสารได้สูงสุด 600,000 คนต่อวัน
นอกจากนี้ ปี 2564 จะเป็นการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมให้สถานีรถไฟมักกะสันเป็นสถานีหลักของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งสถานีมักกะสันพร้อมเป็นสถานีหลักของรถไฟความเร็วสูง โดยปัญหาทางเข้าสถานีที่คนเดินทางเข้าสู่สถานีได้ยากกำลังออกแบบสร้างทางเดินเข้าสู่สถานี ซึ่งการขุดทางรอดใต้ดินให้มีทางเข้าออกได้ถึง 6 ทางเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้า-ออกสถานีของประชาชน
สำหรับรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายจากสนามบินอู่ตะเภาไปยัง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด กำลังศึกษาว่าจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะการลงทุนรถไฟความเร็วสูงต้องเชื่อมเมืองขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก 2 เมืองเข้าด้วยกัน โดยการลงทุนระยะแรกเชื่อมกรุงเทพฯ และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งผ่านเส้นทางที่เป็นเมืองและชุมชนและได้ประโยชน์จากสนามบินอู่ตะเภาทำให้การลงทุนสร้างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
“ความสำคัญที่ต้องติดตามจากนี้ คือ การให้รถไฟความเร็วสูงและสนามบินอู่ตะเภาเสร็จและเปิดบริการในระยะเวลาใกล้เคียงกันหรือพร้อมกันจึงจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเต็มที่ ซึ่งจะแล้วเสร็จปี 2568 โดยได้ตั้งคณะทำงานให้ทั้ง 2 โครงการทำงานร่วมกันต่อเนื่อง ซึ่งต้องมองไปข้างหน้าเพราะโครงการนี่้แล้วเสร็จในช่วงที่โควิด-19 ควบคุมได้แล้ว” นายคณิศ กล่าว
ร.ฟ.ท.เดินหน้าเวนคืนที่ดิน
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้น ร.ฟ.ท.มั่นใจว่าจะส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก คือ ช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา เข้าดำเนินงานตามสัญญากำหนดภายในเดือน ต.ค.2564
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.รอข้อมูลประกอบการพิจารณา กรณีเอกชนมีข้อเสนอขอย้ายสถานี 3 แห่ง คือ สถานีชลบุรี สถานีพัทยาและสถานีฉะเชิงเทรา แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากเอกชน ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงเดินหน้าเตรียมเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญากำหนด ซึ่งอยู่ขั้นตอนประกาศราคาเวนคืนที่ดินและดำเนินการเจรจาทำสัญญากับเจ้าของที่ดิน
ทั้งนี้ เมื่อ ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้ข้อมูลการย้ายสถานีถึงเหตุผลและประโยชน์ที่ประชาชนจะรับ ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าเวนคืนตามที่สัญญากำหนด โดยอยู่ระหว่างของบเวนคืนเพิ่มเติม ซึ่งหากเวนคืนที่ดินไปแล้วเอกชนมาขอย้ายสถานีก็สามารถทำได้ แต่เอกชนจะต้องมีแผนพัฒนาที่ดินที่ ร.ฟ.ท.เวนคืนมาด้วย และต้องใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์กำหนด คือ การใช้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ซีพีลุยบริหารแอร์พอร์ตลิงก์
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า การส่งมอบแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีกำหนดวันที่ 24 ต.ค.2564 ซึ่งเอกชนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลี 6 คน มาศึกษาดูงานและหารือแผนงานดำเนินการในอนาคต อาทิ กำหนดซ่อมขบวนรถ และแผนเตรียมปรับปรุงสถานี ติดตั้งระบบบอกทาง ไฟฟ้า รวมไปถึงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณให้สอดคล้องกับระบบของรถไฟความเร็วสูง
สกอพ.เร่งเอกชนเข้าพื้นที่
แหล่งข่าวจาก สกพอ.กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีหลายโครงการลงพื้นที่เตรียมงานก่อสร้างแล้วหลังทยอยลงนามร่วมลงทุนในปี 2562-2563 ซึ่ง สกพอ.ประเมินว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงหรือวัคซีนเริ่มใช้งานในช่วงกลางปี 2564 โครงการลงทุนในอีอีซีจะเริ่มก่อสร้างได้
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาหลายโครงการล่าช้ากว่าแผนเพราะโควิด-19 และการฟ้องร้องของภาคเอกชน แต่ปัจจุบันโครงการสนามบินอู่ตะเภาและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่ติดปัญหาแล้วเพราะลงนามร่วมลงทุนเรียบร้อย เหลือเพียงขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่และการเข้าดำเนินโครงการที่จะเร่งรัดในช่วงปี 2564 ดังนั้นยังเหลืออีก 1 โครงการที่ยังไม่ได้ลงนามร่วมลงทุน คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3