กกพ.คาด ออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟ 'โรงไฟฟ้าชุมชน' ประมาณ ก.พ.2564
กกพ.คาดออกร่างระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า “โรงไฟฟ้าชุมชน” ประมาณ ก.พ. 2564 เผยยังรอสอบถามข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ เข้าข่ายต้องทำ “เกษตรพันธสัญญา” หรือไม่
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 เห็นชอบหลักการและเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-inTariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP)โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง) มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์
โดยมอบหมายให้ กกพ. ไปดำเนินการออกระเบียบ หรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ตามเงื่อนไขใหม่นั้น กกพ.ได้ร่างระเบียบฯในเบื้องต้นแล้ว และยังอยู่ระหว่างการสอบถามข้อมูลไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาว่าโครงการโรงไฟ้ฟาชุมชนฯต้องเข้าข่ายจัดทำ ระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 หรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากตามกรอบหลักเกณฑ์ฯของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ภาครัฐได้กำหนดต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิงโดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงานคุณสมบัติของพืชพลังงานและราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญาด้วย โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้จะต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้ไม่เกิน 20%
“เราทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงเกษตรฯแล้ว ก็ต้องรอตอบกลับมาว่า เข้าข่ายเกษตรพันธสัญญาหรือไม่ หรือมีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้าเข้าข่ายก็ต้องทำตาม พ.ร.บ. แต่ก็จะไม่กระทบกับแผนออกร่างระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าที่คาดว่า จะดำเนินการได้ในช่วงประมาณเดือน ก.พ.64 และเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอโครงการฯต่อไป"
สำหรับกรอบหลักเกณฑ์ฯโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA, Power Purchase Agreement) แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการเป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ สัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นสัญญาแบบ Non-Firm ระยะเวลา 20 ปี
วิธีการคัดเลือกโครงการ จะมีการพิจารณาข้อเสนอขอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคา ดังนี้ ส่วนที่ 1 ด้านเทคนิค จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข และประเมินด้านเทคนิค อาทิ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีความพร้อมด้านการเงินความพร้อมด้านพื้นที่มีระบบสายส่งรองรับ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง รวมถึงพื้นที่ปลูก การบริหารน้ำและปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เป็นต้น ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป และส่วนที่ 2 ด้านราคา จะเป็นการแข่งขัน ด้านราคา (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดสูงสุดจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ ซึ่งโครงการที่ยื่นขอขายไฟฟ้า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ
ขณะที่รูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในสัดส่วน90% และส่วนที่ 2 วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และมีสมาชิกรวมกัน ไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ถือหุ้นในสัดส่วน 10% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิ) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ การแบ่งผลประโยชน์ แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน(ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และส่วนที่ 2 ผลประโยชน์อื่นๆ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน ทั้งนี้ ให้กำหนดวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคด้านการศึกษา เป็นต้น