พาณิชย์มั่นใจสหรัฐต่ออายุจีเอสพี

พาณิชย์มั่นใจสหรัฐต่ออายุจีเอสพี

กรมการค้าต่างประเทศ มั่นใจสหรัฐฯ ต่ออายุจีเอสพี ทุกประเทศ หลังผู้ซื้อ ผู้นำเข้า สมาคมการค้าในสหรัฐฯ ยื่นหนังสือล็อบบี้รัฐสภา เผยเหตุล่าช้าเพราะสหรัฐกำลังมีรัฐบาลใหม่ และสาวะวนกับการสู้โควิด-19

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าการต่ออายุโครงการสิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี (GSP) ของสหรัฐว่า   ขณะนี้สหรัฐฯอยู่ระหว่างทบทวน โครงการจีเอสพีที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 119 ประเทศ โดยเป็นรอบการทบทวนรายปี (Annual Review) เพราะโครงการจะหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค.ไปแล้ว ซึ่งไทยและอีกหลายประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีได้ยื่นให้ทางสหรัฐต่ออายุจีเอสพี โดยวันที่ 16 มิ.ย.63 ภาคเอกชน สมาคมธุรกิจ ผู้นำเข้า ของสหรัฐ  จำนวน222 ราย ทำหนังสือถึงกรรมาธิการการเงิน ของรัฐสภา สหรัฐฯ ให้พิจารณาต่ออายุโครงการจีเอสพี ต่อมาทำหนังสือย้ำไปอีกวันที่ 1 ก.ค.2563 และครั้งล่าสุด วันที่ 1 ธ.ค.2563 รวมทั้งหมด 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าการที่สหรัฐฯ ให้จีเอสพี กับประเทศต่างๆ ทำให้ผู้นำเข้าประหยัดต้นทุน และผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้บริโภคสินค้าราคาถูกลง  

ทั้งนี้ กรมฯ มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะต่ออายุโครงการจีเอสพีแน่นอน เพราะมีผู้สนับสนุนการต่ออายุเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการต่ออายุเมื่อใด เพราะการต่ออายุที่ผ่านมา ใช้เวลานานหลายเดือน ครั้งที่แล้วดีเลย์ไปถึง 4 เดือนกว่าจะต่ออายุโครงการ อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ เพราะผู้นำเข้า ยังนำเข้าได้ปกติ เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีไปก่อน และเมื่อโครงการได้รับการต่ออายุ ก็ไปขอคืนภาษีได้

160975440224

             

“สหรัฐฯ มีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการหลายเรื่อง ทั้งการมีรัฐบาลใหม่ หลังจากที่เพิ่งมีการเลือกตั้งเสร็จ และการต่อสู้กับโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ ทำให้สหรัฐฯ ต้องดูความจำเป็นเรื่องที่จะทำก่อนและหลัง โดยโครงการ GSP ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ปกติสหรัฐฯ ก็ต่ออายุช้าอยู่แล้ว บางครั้งนาน 6 เดือนและเกือบ 1 ปีก็มี แต่สุดท้ายแล้วก็ต่อ อยู่ที่ว่าจะต่อเมื่อใด

นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิจีเอสพี ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 3,271.43 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.44% โดยสหรัฐฯ ใช้สิทธิสูงสุด 2,905.83 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.63% โดยสินค้าใช้สิทธิส่งออกสำคัญ เช่น ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ใช้สิทธิรองลงมา 238.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.19% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช ใช้สิทธิ 102.22 ล้านเดอลลาร์ ลดลง2.30% และนอร์เวย์ ใช้สิทธิ 24.42 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 33.96%
         
   160975443081            

 

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ในช่วง 9 เดือนปี 2563 มีมูลค่า 42,337.88 ล้านดอลลาร์ลดลง 15.85% โดยตลาดที่ไทยใช้สิทธิส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย และสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ (ลำไย เงาะ ลางสาด) รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มันสำปะหลัง เป็นต้น