กสอ.เผยแผนปี64 พยุงเอสเอ็มอีอยู่ได้ ดึงเทค-ปรับทักษะ-สร้างเครือข่าย

กสอ.เผยแผนปี64 พยุงเอสเอ็มอีอยู่ได้ ดึงเทค-ปรับทักษะ-สร้างเครือข่าย

แนวโน้มโลกได้เปลี่ยนไปจากสถานการณ์โควิด-19 ,ภาวะโลกร้อน ,การนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งสงครามการค้า ซึ่งประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มโลกที่เปลี่ยนไป

และทางรอดของไทยจะต้องปรับไปสู่แนวทางเกษตรอุตสาหกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการนำระบบอัจฉริยะเข้ามาสู่ทุกกระบวนการผลิต ที่จะต้องเริ่มตั้งแต่ปี 2564

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ไทยจะต้องใช้จุดเด่นของประเทศเข้ามาตอบโจทย์ของโลก ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนใน 5 ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ 1. อาหาร 2. สุขภาพ จากการที่ไทยรับมือกับโควิด-19 ได้ดี 3. การเพิ่มมูลค่าสินค้า ควรจะเปลี่ยนไปเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ผ่านการสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

4. การสร้างเครือข่าย ภายในประเทศ และภูมิภาคเดียวกัน เพื่อพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศให้ได้มากที่สุดและ5. คุณภาพ ซึ่งหลังวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้าขั้นสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ ทางรอดของไทยในปี 2564 ทุกธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัว เพราะรายได้ ผลกำไรจะไม่เข้ามาเหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเพื่อรักษาเงินทุนหมุนเวียน

ดังนั้นทุกภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่ง กสอ. จะเข้าไปช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีปรับตัวใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การเพิ่มทักษะการผลิตอย่างเร่งด่วน ด้วยการเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเอไอ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งจะมีธุรกิจจำนวนหนึ่งถูก Disruption จนต้องปิดกิจการ จนทำให้มีพนักงานจำนวนมากต้องตกงาน

161037468674

ดังนั้น กสอ.จึงได้มีแผนในการพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ให้สร้างธุรกิจใหม่ของตัวเองบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ เช่น พนักงานธนาคาร ซึ่ง กสอ. ได้มีโปรแกรมพัฒนาไปสู่อาชีพส่วนตัวต่าง ๆ เข้ามารองรับ

2. การใช้เครื่องมือใหม่ ๆเริ่มตั้งแต่การสร้างนิเวศอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ซึ่ง กสอ. จะกระจายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ไอทีซี) ไปทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายการออกแบบ การทำบรรจุภัณฑ์ และการปรับปรุงเทคนิคการแปรรูปในทุกจังหวัด เพื่อให้ความรู้คำปรึกษาที่เหมาะสม รวมทั้งจะเร่งจัดทำมาร์เก็ตเพรสที่เป็นแพลตฟอร์มที่ได้มาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้ากับ กสอ. เพราะที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่เข้าร่วมงานแฟร์กับ กสอ. แต่หลังจากจบงานลูกค้าก็ไม่รู้จะติดต่อซื้อสินค้าต่อได้ที่ไหน และยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ค้าออนไลน์ไม่เป็นซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยต่อยอดขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการได้มาก

3. การสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกลุ่มStart up deep tech หรือสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านมาพบกับบริษัทที่ต้องการเข้าไปร่วมลงทุน รวมไปถึงการจับคู่ให้กับเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเครือข่ายการค้าภายในประเทศได้มากขึ้น และ4. ปรับกลไกเงินทุนซึ่งจะเข้าไปให้ความรู้การบริหารเงินในองค์กร เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการกู้เงิน และมีกลไกช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ให้ธุรกิจล้ม

ส่วนอุตสาหกรรมที่ กสอ. จะมุ่งเน้นในปีนี้ จะเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อรองรับคนตกงานที่จะกลับสู่ท้องถิ่นและอยากจะเข้าสู่ธุรกิจภาคการเกษตร จะเป็นการต่อยอดจากพื้นฐานการเกษตรไปสู่การแปรรูปการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ จะเข้าไปเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัลให้กับเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทั้งด้านการตลาด การปรับปรุงสายการผลิต และการบริหารจัดการระบบหลังบ้านต่าง ๆ เช่น การทำบัญชี การจัดการธุรกิจ เป็นต้น

ในปี 2564 ผู้ประกอบการไทยจะต้องหันกลับมาพึ่งพารายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ และเข้าสู่ซัพพลายเชนของโครงการเมกกะโปรเจคต์ต่าง ๆ รวมทั้งเข้าสู่โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงจะช่วยให้ธุรกิจรอดพ้นในปีนี้ไปได้”

จากแผนการดำเนินงานที่กล่าวมานี้ ตั้งเป้าส่งเสริมเอสเอ็มอีทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3,356 กิจการ พัฒนาทักษะกับบุคลลากรในภาคอุตสาหกรรม 13,375 คน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 177 กลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มขึ้น 982 ผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในไทยให้มีความเข้มแข็ง ด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท