เยียวยาพิษ 'โควิด' เรา (ต้อง) ชนะ
มาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่เพิ่งผ่านมติ ครม.และจะเข้า ครม.อีกในครั้งต่อไป ถือว่ารัฐบาลเล่นชุดใหญ่ที่จะเอาชนะและผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ ทั้งระดมกำลัง งบประมาณ และให้ครอบคลุมประชาชนจำนวนมาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนแม้อาจจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีน
โครงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด รอบสองออกมาแล้ว หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาเปิดเผยเองว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางดูแลด้านผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ไปดูแลหามาตรการเยียวยา ซึ่งได้คำตอบว่ามีนโยบายให้เยียวยารายได้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มครอบคลุม
โดยเริ่มจากกลุ่มเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ เกษตรกร จะมีการเยียวยาอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งนี้กระทรวงการคลังและนำเสนอต่อ ครม.ในวันที่ 19 ม.ค.2564 ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “เราชนะ” คาดว่าจะครอบคลุมเยียวยา 30 ล้านคน ทั้งนี้หลักการเหมือนโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่เยียวยาในรอบแรก จะต่างเรื่องเงินจำนวนเงินและระยะเวลาเยียวยา โดยเฉพาะเยียวยาส่วนนี้ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ขณะนี้เหลือวงเงินอยู่ประมาณ 4.69 แสนล้านบาท
ไม่เฉพาะเยียวยาตามโครงการ “เราชนะ” เท่านั้น แต่กลุ่มแบงก์รัฐทุกแห่งยังระดมต่ออายุมาตรการสินเชื่อ และการเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด เนื่องจากสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบที่สามารถดูแลประชาชนและภาคธุรกิจจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ โดยสภาพคล่องปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 6.4 แสนล้านบาท
ยังไม่พอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 ม.ค.2564 ยังมีในส่วนของมาตรการลดค่าครองชีพที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้วอีกด้วย ซึ่งส่วนนี้จะครอบคลุมกว้างขึ้น เริ่มจากการลดค่าใช้จ่ายค่าใช้น้ำประปา 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.64 ครอบคลุมผู้ใช้น้ำประมาณ 6.76 ล้านราย และลดค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยกลุ่มผู้ใช้กลุ่มที่ใช้ไฟน้อยกว่า 150 หน่วย จะได้ฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย ส่วนกิจการขนาดเล็กจะใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย การดำเนินการทั้งหมดจะครอบคลุมที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 23.7 ล้านราย
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้ประการที่ใช้โรงงานของตัวเองเป็นที่กักตัวพนักงานตัวเอง และการปรับปรุงเงื่อนไขในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะเห็นว่ามาตรการครั้งนี้ที่เพิ่งผ่านมติ ครม.และจะเข้า ครม.อีกในครั้งต่อไป ถือว่า “เล่นชุดใหญ่” ซึ่งการระดมกำลัง งบประมาณและครอบคลุมประชาชนจำนวนมากขณะนี้นั้น “เราต้องชนะ” และฝ่าวิกฤติพิษโควิดไปกันให้ได้
แน่นอนว่างบประมาณหรือภาครัฐ อย่างเดียวไม่สามารถเอาชนะศึกครั้งนี้ ได้ ทุกกลุ่มคน ต้องร่วมกันในพันธกิจของตัวเอง ที่ต้องป้องกัน เพราะสงครามโรค ข้างหน้าใหญ่หลวงยิ่ง และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งแต่ละประเทศต่างใช้แนวทางเรียนรู้ ทดสอบ ลองผิดลองถูก เพื่อหาจุดที่ดีที่สุด เพราะความหวังเรื่องวัคซีน แม้ปีนี้จะมีข่าวดีอยู่บ้าง แต่จะให้เสถียรและเกิดความมั่นใจนั้น เรานับจากนี้ไป 2 ปี ดังนั้นการรับมือกับสงครามโรคครั้งนี้ ป้องกัน เยียวยา บรรเทา จะอยู่กับเราอีก 2 ปี ต้องมาถามทุกคนว่า จะรับมือกันอย่างไร ถึงจะ “เราชนะ”