'กอ.รมน.'เปิดเหตุผล ‘โซลาร์เซลล์’ แพงกว่า ‘พิมรี่พาย’ ไม่รู้ บ.ประมูล นามสกุลเดียว ‘หมอชลน่าน'
'โฆษก กอ.รมน.' แจงยิบปม 'ติดตั้งโซล่าเซลล์อมก๋อย' ท้าลงพื้นที่ตรวจสอบแพงไม่แพง ลั่นเป็นไปตามราคามาตรฐานกรมบัญชีกลาง เปิดประมูลราคาแฟร์เกม มั่นใจ 'กอ.รมน.'ทำหน้าที่ หลังฝ่ายการเมืองจ้องยุบ
15 ม.ค. 2564 จากกรณี ยูทูบเบอร์ สาวชื่อดัง พิมรี่พาย ที่เดินทางไปบริจาคสิ่งของให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พร้อมออกเงินกว่า 5 แสนบาท ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับหมู่บ้านได้มีไฟฟ้าใช้ แต่กลับเกิดดราม่าบนโลกออนไลน์ มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับราคาของอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ จนลุกลามไปถึงการเปิดเอกสาร สรุปราคากลางงานก่อสร้างอาคาร โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.
จนเป็นเหตุให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาขอให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้างอาคาร โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของ กอ.รมน.ภาค 3
ล่าสุด พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ได้เป็นการตอบโต้โดยยึดจากข้อมูลที่มีอยู่และย้ำว่าเอกสารที่ถูกนำมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้เป็นของกอ.รมน.จริง ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าการจัดทำโครงการฯ เดิมมีการเสนอราคาไปจำนวน 54 ล้านบาท แต่จากการลงพื้นที่ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปี 2562 ได้ปรับลดงบประมาณเหลือ 45,100,000 บาท เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 215 กิโลวัตต์
พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเธียม) ขนาดความจุ 998 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง พร้อมติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนระยะทาง 5,409 เมตร ติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 120 ชุด และโรงคลุมแบตเตอรี่ในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านพะอัน ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 30.72 กิโลวัตต์ หมู่บ้านจกปก ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์ หมู่บ้านห้วยไก่ป่า ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์ หมู่บ้านมูเซอหลังเมือง ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์ และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 30.72 กิโลวัตต์
พล.ต. ธนาธิป กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2561 ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่สำรวจ ความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ทำการประชุมประชาคมของประชาชนทั้ง 4 หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ของ 3 อบต. ได้แก่ อบต.สบโขง อบต.แม่ตื่น และอบต.ม่อนจอง
โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการติดตั้งระบบฯ กอ.รมน.ภาค 3 จึงได้เสนอโครงการเข้ารับการสนับสนุนงบประมาณในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปี 2562 ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยกำหนดราคากลางของโครงการตามบัญชีราคามาตรฐานของกรมบัญชีกลาง และการสืบราคาจากท้องตลาด โดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ถือเป็นวิธีที่แฟร์เกมที่สุด
โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการทั่วไปยื่นข้อเสนอที่ผ่านมามีผู้สนใจยื่นรับเอกสารผ่านระบบฯ จำนวน 4 ราย และมีผู้ยื่นเสนอราคา จำนวน 3 ราย เมื่อตรวจสอบเอกสาร ตามเงื่อนไขปรากฏว่ามีผู้ยื่นเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน จำนวน 2 ราย คือ บ.ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บ.บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ส่วนกิจการร่วมค้า เอ็ม เอ็ม ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดยื่นเอกสารไม่ถูกต้อง และไม่ครบถ้วน จำนวน 11 รายการ ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นสาระสำคัญต่อผลสำเร็จของโครงการจึงไม่ผ่านการคัดเลือกสำหรับบ.บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในราคา 45,100,000 บาทที่ได้จดทะเบียนตั้ง บริษัทในปี 2557 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการด้านพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน ประกอบกับมีผลงานการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานวงเงินไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาทตามเงื่อนไข
“ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคามีนามสกุลเดียวกับนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทยนั้น เรื่องดังกล่าวผมไม่ทราบ แต่การดำเนินการกอ.รมน.ใช้วิธีการประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาประกวดราคา เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาประกวดราคาจะนามสกุลใดก็แล้วแต่ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้มีรายละเอียดตรงตามที่กำหนด”
พล.ต. ธนาธิป กล่าวอีกว่า การดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ครั้งนี้มีเป้าหมายหลักไปยังพื้นที่สาธารณะประโยชน์ และพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ได้แก่ อาคารเรียน ศาลาประชาคมประจำพื้นที่ และเสาไฟส่องสว่างตามเส้นทางภายในหมู่บ้าน ส่วนโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนที่ให้ประชาชนใช้งานภายในบ้านจะดำเนินการต่อไป
ที่ผ่านมา กอ.รมน. ได้ดำเนินการตรวจรับงานแล้ว เมื่อเดือนก.ย. 63 ระบบสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมจัดทำบัญชีคุมอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการโอน/ส่งมอบระบบให้ทั้ง 3 อบต. ใช้งาน โดยเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 63 กอ.รมน. ได้ส่งหนังสือการพิจารณายืนยันการรับมอบระบบฯ ไปยัง 3 อบต. ภายหลังจากอบต. ตอบหนังสือยืนยันกลับมาแล้วจึงจะทำการโอนระบบให้อบต. แล้วจึงจะบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โดยการเชื่อมสายไฟเข้าไปในตัวบ้านเพื่อใช้งานต่อไป
22222
เมื่อถามว่า มีการเปรียบเทียบราคาว่าทำไมของกอ.รมน. แพงกว่าของ น.ส.พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ หรือพิมรี่พาย เน็ตไอดอลชื่อดัง ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่หมู่บ้านแม่เกิบนั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า จะถูกหรือแพงสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งต้องไปดูบัญชีราคามาตรฐานของกรมบัญชีกลาง ระเบียบกระทรวงการคลังตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุปี 2560 อีกทั้งเหตุราคาของกอ.รมน.ที่สูงกว่า เพราะมีอุปกรณ์ส่วนควบหลายส่วน มีโรงเก็บแบตเตอรี่ การลากสายไฟฟ้าไปยังครัวเรือนต่างๆ รวมถึงเสาไฟฟ้าในพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในโครงการที่กอ.รมน.ดำเนินการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้อยู่ดีกินดีที่เป็นปัญหาความมั่นคง ทั้งหมดสามารถตรวจได้ และกอ.รมน.ภาค 3 ยินดีให้ความร่วมมือ หากใครต้องการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ
พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่มีการฟ้องกลับกับคนที่โจมตีพาดพิงกอ.รมน. เพราะถือเป็นเรื่องดีที่มีการช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต สำหรับกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกอ.รมน.ไม่ทำโครงการดังกล่าวในหมู่บ้านแม่เกิบที่ตกเป็นข่าวนั้นก็เพราะว่าหมู่บ้านแม่เกิบอยู่ไกลจาก 4 หมู่บ้านในกลุ่มเดียวกันนี้ ซึ่งปกติแล้วการจัดทำโครงการจะเลือกหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ไม่กระโดดออกไปในระยะที่ห่างไกลกันมากนัก หากไม่มีกรณีที่เกิดขึ้นทางกอ.รมน.ก็จะทำแผนโครงการติดตั้งพลังงานทดแทนให้อยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ทุรกันดารและไม่มีไฟฟ้าใช้
เมื่อถามถึงกรณีที่มีเพจดังรายงานข้อมูลโครงการจัดทำแผงโซล่าเซลล์ของกอ.รมน. 20 จุดในพื้นที่จ.ตาก และจ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2561 รวม 45,590,000 บาท ไม่มีจุดไหนใช้งานได้สักจุดนั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ตนได้ตรวจสอบกับกอ.รมน.ภาค 3 พบว่าเมื่อเดือนก.ค. 63 ได้มีการเข้าไปแก้ไขตรวจสอบทั้ง 20 จุดตามวงรอบปกติของประกันบริษัทที่ดูแล แต่เชื่อว่ามีบางจุดอาจต้องซ่อมแซมหรือใช้ไม่ได้ แต่เชื่อว่าคงไม่ถึง 20 จุด ทั้งนี้ขอให้ไปตรวจสอบกับประชาชนในหมู่บ้านว่าใช้งานและได้ใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามการใช้งานในภาพรวมคงต้องใช้ไปก่อน ถึงจะรู้ว่าต้องปรับปรุงส่วนใดหรือไม่ แต่ยืนยันการดำเนินงานมีประกันอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองโจมตีบทบาทหน้าที่กอ.รมน. และเสนอยุบหน่วยงานนี้ พล.ต.ธนาธิป กล่าวยืนยันว่า กอ.รมน. มีบทบาทประสานงานกับหลายภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เร็วขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญในแต่ละพื้นที่ โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. เพราะการอยู่ดีมีสุขเป็นเรื่องของความมั่นคง