ซีอีโอ ‘Xiaomi’ สูญเงินมหาศาลแค่ไหน หลังสหรัฐ ‘แบล็คลิสต์’

ซีอีโอ ‘Xiaomi’ สูญเงินมหาศาลแค่ไหน หลังสหรัฐ ‘แบล็คลิสต์’

คำสั่งแบล็คลิสต์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ต่อบริษัทจีนซึ่งรวมถึงยักษ์ใหญ่ “เสี่ยวหมี่” (Xiaomi) นอกจากส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในสหรัฐแล้ว ยังสะเทือนกระเป๋าเงินของ “เหลย จุน” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเสี่ยวหมี่อย่างมหาศาล

รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และบริษัทจีน 9 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ บริษัทเสี่ยวหมี่ คอร์ป ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพจีน พร้อมห้ามบริษัทในสหรัฐร่วมลงทุนกับบริษัทจีนเหล่านี้

นอกจากนี้ คำสั่งขึ้นบัญชีดำดังกล่าวยังกำหนดให้นักลงทุนชาวอเมริกัน จะต้องถอนการถือครองหุ้นในแต่ละบริษัทที่อยู่ในบัญชีดำภายในวันที่ 11 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของผู้บริหารที่ลงนามโดยประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว

หลังมีมาตรการคว่ำบาตร ราคาหุ้นของเสี่ยวหมี่ร่วงหนักถึง 13% ในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ (15 ม.ค.) และฝ่ายที่เสียหายหนัก หนีไม่พ้นบรรดาผู้บริหารระดับสูงของบริษัท

 

  • หายวับกว่าแสนล้าน

ข้อมูลจากดัชนีมหาเศรษฐีบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) ระบุว่า ณ วันที่ 15 ม.ค. เหลย จุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เสี่ยวหมี่ วัย 51 ปี ซึ่งร่วมก่อตั้งบริษัทเมื่อทศวรรษที่แล้ว สูญเงินถึงราว 3,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.08 แสนล้านบาท

161070298718
- เหลย จุน ซีอีโอเสี่ยวหมี่ คอร์ป -

ขณะที่ หลิน ปิน รองประธานบริษัทเสี่ยวหมี่ วัย 60 ปี สูญเงิน 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้น ราคาหุ้นตกครั้งนี้ยังทำให้ความมั่งคั่งของเศรษฐีผู้ถือหุ้นอีกอย่างน้อย 5 คน หายวับในชั่วพริบตา

ปัจจุบัน เหลย ซึ่งถือหุ้นในเสี่ยวหมี่กว่า 25% มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิราว 2.75 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 8.25 แสนล้านบาท) ลดลงจาก 3.32 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.97 แสนล้านบาท) ช่วงที่ราคาหุ้นเสี่ยวหมี่แตะระดับสูงสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ความมั่งคั่งของหลินอยู่ที่ 9,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.97 แสนล้านบาท)

ซีอีโอเสี่ยวหมี่เปิดศักราช 2564 ด้วยการรั้งอันดับ 4 มหาเศรษฐีเทคโนโลยีรวยที่สุดในจีน ต่อจาก “แจ็ค หม่า” ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา ซึ่งสูญเงินราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว หลังอาณาจักรของเขาถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลจีน

 

  • ตามรอยบริษัทร่วมชาติ

ก่อนหน้านี้ ขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนได้รับความเสียหายหนักจากมาตรการคุมเข้มและคว่ำบาตรด้านอื่น ๆ ของรัฐบาลสหรัฐ แต่เสี่ยวหมี่ถือเป็นบริษัทสัญชาติจีนไม่กี่ราย ที่ธุรกิจยังคงเติบโต

เห็นได้จากยอดขายสมาร์ทโฟนของเสี่ยวหมี่ที่แซงหน้ายอดขาย iPhone ของยักษ์ใหญ่สหรัฐอย่าง Apple ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว และสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดจาก “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” เพื่อนร่วมชาติซึ่งถูกสหรัฐคว่ำบาตรก่อนหน้านี้

นอกจากนั้น ราคาหุ้นเสี่ยวหมี่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อน และในเดือน ธ.ค. มูลค่าตลาดของผู้ผลิตมือถือจีนรายนี้ทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นการบรรลุเป้าหมายที่บริษัทวางไว้เมื่อปี 2561

  • ความสัมพันธ์กับกองทัพจีน

กรณีที่สหรัฐกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพจีนนั้น เสี่ยวหมี่แถลงโต้แย้งว่า กองทัพไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทหรือมีอำนาจควบคุมบริษัทแต่อย่างใด และจะดำเนินมาตรการตามความเหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน

“บริษัทขอย้ำว่า เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการเพื่อพลเรือนและการใช้งานเชิงพาณิชย์เท่านั้น บริษัทยืนยันว่าไม่ได้ถูกควบคุมหรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับกองทัพจีน และไม่ใช่บริษัทในเครือข่ายกองทัพคอมมิวนิสต์จีนตามที่ถูกนิยามในกฎหมายความมั่นคงสหรัฐแต่อย่างใด” แถลงการณ์เสี่ยวหมี่ระบุ

สำหรับเสี่ยวหมี่ การถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำในช่วงเวลานี้ ถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง

“ขณะนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังไปได้สวยสำหรับเสี่ยวหมี่ แต่ดูเหมือนว่าการถูกแบล็คลิสต์ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐ ก็อาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ธุรกิจทั่วโลกของบริษัท ตั้งแต่การขยายตลาดสู่อินเดีย ไปจนถึงการจ้างพนักงานในตะวันตกเพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในแอฟริกา” อภิสูร ปรากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์การเมืองของบริษัทที่ปรึกษา Center for Innovating the Future (CIF) ในแคนาดาวิเคราะห์

----------

อ้างอิง: Bloomberg, CNBC, Investing.com