ทอท.ลุยลงทุน 6 หมื่นล้าน ขยายเทอร์มินัล 3 โครงการ
"คมนาคม" เผยแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทุกหน่วยงานไฟเขียว หนุน ทอท.สร้าง 3 โครงการ วงเงินแตะ 6 หมื่นล้านบาท "อนุทิน" สั่งทบทวนความเห็นไอเคโอ - ไออาต้า คาดชงเข้า ครม. ภายใน มี.ค.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นประธาน พร้อมด้วยประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจเเละสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการพัฒนา 3 โครงการ วงเงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1.อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expqnsion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร 2. อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (West Expantion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร และ 3. โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expantion) รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปีและขยายได้ถึง 40 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 41,260 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 348,000 ตารางเมตร
สำหรับการหารือครั้งนี้ ทอท. มีการเสนอข้อมูลการดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสาร โดยนำเสนอข้อมูลจำนวนผู้โดยสารกับความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร พบว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขณะนี้มีอาคารรองรับผู้โดยสารหลัก มีความสามารถ 45 ล้านคนต่อปี ขณะที่จำนวนผู้โดยสารก่อนโควิด -19 จำนวน 60 ล้านคนต่อปี ก่อให้เกิดความคับคั่ง ดังนั้นที่ประชุมเล็งเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อจำนวนผู้โดยสารลดลง จึงเป็นโอกาสในการเร่งพัฒนา เพื่อรองรับภายหลังสถานการณ์ฟื้นตัวและเริ่มมีความต้องการเดินทาง
ประกอบกับ ทอท.ยังอยู่ระหว่างพัฒนารันเวย์ 3 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี จาก 60 ล้านคนต่อปี ดังนั้นเมื่อขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ทอท.ก็จำเป็นต้องสร้างอาคารรองรับ เนื่องจากขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรภูมิในขณะนี้จะรองรับได้เพียง 60 ล้านคนต่อปี จากอาคารผู้โดยสารหลัก 45 ล้านคนต่อปี และอาคารเทียบเครื่องบินรอง หรืออาคารแซทเทิลไลท์ ที่จะเปิดให้บริการในปีหน้า รองรับเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี
"ที่ประชุม เราไม่ได้มองเพียงว่าวันนี้และปีหน้า แต่สิ่งที่เรามองคืออนาคต เพราะรายได้ของไทยมาจากการท่องเที่ยว โดย 80% มาจากทางอากาศ ดังนั้นเราควรสร้างรองรับเพื่อเป็นโอกาสให้กับประเทศไทย แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้ผู้โดยสารลดลง แต่รัฐบาลเราก็ออกมายืนยันเสมอว่าการหาวัคซีนจะเริ่มฉีดในปีนี้ และทั้งโลกก็เหมือนกัน ดังนั้นโควิด-19 จะคลี่คลายและเดินทางจะกลับมาในปีหน้า"
อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารจาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 120 ล้านคนต่อปี ซึ่งสอดคล้องไปกับการปรับตัวช่วงโควิด-19 ที่ต้องมีระยะห่างระหว่างกัน เพราะหากผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังคงมีอาคารผู้โดยสารเพียงพอต่อการรองรับ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ทอท. เร่งทบทวนแผน ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต สอบถามความคิดเห็นจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ถึงแผนพัฒนาในครั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน มี.ค.นี้
ส่วนแผนพัฒนา เบื้องต้นโครงการส่วนต่อขนายด้านทิศเหนือ คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 6 เดือน ก่อสร้าง 25 เดือนหรือราว 2 ปี ขณะที่ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จะใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้าง 6 เดือน แต่เวลาก่อสร้างนาน 29 เดือน หรือราว 2 ปีครึ่ง ซึ่งสาเหตุที่ใช้เวลาก่อสร้างมากกว่า เพราะเป็นส่วนต่อขยายที่เกี่ยวเนื่องกับอาคารหลัก ต้องไปปรับปรุงใช้เวลาราว 4 เดือน ดังนั้นหากแผนพัฒนาผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ในเดือน มี.ค.นี้ ทอท.จะเริ่มต้นขั้นตอนประมูล ได้ตัวผู้รับจ้าง ก.ย.2564 อาคารด้านทิศเหนือจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ก.ย.2566 และส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จะแล้วเสร็จใน ม.ค.2567
"สศช.ไม่ขัดข้อง กับการสร้างอาคารด้านทิศเหนือ แต่มีคำถามว่าทำไมไม่สร้างตะวันออกและตะวันตก ที่ประชุมวันนี้จึงจะสร้างทั้ง 3 โครงการเลย รวมวงเงินประมาณ 6 หมื่นล้าน ซึ่ง ทอท.ก็มีความพร้อมอยู่แล้วในการลงทุนอยู่แล้ว หาก ครม. อนุมัติการลงทุนนี้ จะเป็นเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก สร้างโอกาสให้กับประเทศ"
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยว่า ทอท.มีความพร้อมในการลงทุนตามแผนเพิ่มขีดความสามารถดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัจจุบัน ทอท.ยังมีกระแสเงินสดอยู่ 3.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในปี 2564 จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน อีกทั้งโครงการลงทุนต่างๆ ที่หารือวันนี้ พบว่าเป็นโครงการที่มีอะตราผลตอบแทน (IRR) คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงยืนยันว่าหาก ทอท.จะมีการกู้เงินเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเท่านั้น อย่างไรก็ดี การลงทุนไม่ต้องใช้เงินทั้งหมด และไม่ได้เป็นการลงทุนที่ต้องจ่ายในครั้งเดียว ดังนั้นขอยืนยันว่า ทอท.มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง ในปี 2565 - 2566 จะมีการกู้เงินหรือไม่นั้น ต้องขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง